กองทัพเรือจัดพิธีวางพานพุ่มถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เนื่องในวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประจำปี 2565

กองทัพเรือจัดพิธีวางพานพุ่มถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เนื่องในวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประจำปี 2565

กองทัพเรือจัดพิธีวางพานพุ่มถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เนื่องใน
วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประจำปี 2565
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 เวลา 10.00 น. พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมด้วย พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ประธานมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม พลเรือเอก ประเจตน์ ศิริเดช อดีตประธานมูลนิธิฯ แพทย์หญิง คุณหญิง นงนุช ศิริเดช รองประธานมูลนิธิฯ พร้อมคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือประกอบพิธีวางพานพุ่มถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
เนื่องในวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประจำปี 2565 ณ กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม
เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเป็นพระปฐมกษัตริย์และกษัตริย์พระองค์เดียวในสมัยกรุงธนบุรี
เสด็จพระราชสมภพ เมื่อ 17 เมษายน พุทธศักราช 2277 พระองค์ทรงมีพื้นฐานเป็นสามัญชน กำเนิดในตระกูลแต้
พระนามเดิมว่า สิน ในปีพุทธศักราช 2308 – 2309 พระองค์ทรงดำรงตำแหน่ง “พระยาตาก” ได้นำไพร่พลมาสมทบเพื่อป้องกันกรุงศรีอยุธยาระหว่างที่พม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ และทำการต่อสู้จนเป็นที่เลื่องลือว่า เป็นแม่ทัพที่เข้มแข็งมากที่สุดคนหนึ่ง ต่อมาพระองค์ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร จนเมื่อ 4 มกราคม พุทธศักราช 2310 (ก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าเมื่อ 8 เมษายน 2310) พระยาตากได้รวบรวมกำลังตีฝ่าวงล้อมของพม่า เพื่อที่จะกลับมากู้เอกราชต่อไป
จากหลักฐานตามพระราชพงศาวดาร พระยาตากได้รวบรวมกำลังทหารประมาณ 500 คน มุ่งไปทางฝั่งทะเลด้านทิศตะวันออก ระหว่างเส้นทางที่ผ่านไปนั้นได้ปะทะกับกองกำลังของพม่าหลายครั้ง แต่ก็สามารถตีฝ่าไปได้ทุกครั้ง และสามารถรวบรวมไพร่พลตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2310 พม่ายึดกรุงศรีอยุธยาได้ เจ้าเมืองใหญ่ ๆ พากันตั้งตัวเป็นใหญ่และควบคุมหัวเมืองใกล้เคียงไว้ในอำนาจ ซึ่งหลังจากพระยาตากยึดเมืองจันทบุรีสำเร็จก็ได้ประกาศตั้งตัวเป็นอิสระ และจัดตั้งกองทัพขึ้นที่นี่ โดยมีผู้คนสมัครใจเข้ามาร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก
หลังฤดูมรสุมในเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2310 พระยาตากได้ยกกองทัพเรือออกจากจันทบุรีล่องมา
ตามฝั่งทะเลในอ่าวไทย จนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา และได้ต่อสู้จนยึดกรุงธนบุรีคืนจากพม่าได้ จากนั้นได้ยกกองทัพเรือต่อไปถึงกรุงศรีอยุธยา เข้าโจมตีค่ายโพธิ์สามต้น เมื่อ 7 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2310
จนสามารถกอบกู้เอกราชให้ชาติไทยได้เป็นผลสำเร็จ โดยใช้เวลาเพียง 7 เดือนนับตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่า หลังจากนั้นทรงเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่แทนกรุงศรีอยุธยา ที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมจนไม่สามารถบูรณะให้กลับมาสู่สภาพเดิมได้ เหตุผลที่พระองค์ทรงเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานีนั้น สันนิษฐานว่าเนื่องจากเป็นเมืองขนาดเล็ก เหมาะสมกับกำลังไพร่พลที่พระองค์มีอยู่ในขณะนั้น อีกทั้งยังเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญอยู่ใกล้ทะเล
สามารถควบคุมเส้นทางเดินเรือเข้าออก มีป้อมปราการเป็นชัยภูมิที่ดี รวมทั้งตั้งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำ
และสามารถเคลื่อนย้ายกำลังทางน้ำเพื่อหลบหลีกศัตรูออกสู่ทะเลได้สะดวก ทั้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังหลวง (พระราชวังเดิมในปัจจุบัน) ขึ้นทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของป้อมวิไชยเยนทร์เดิม (ซึ่งภายหลังได้รับการเปลี่ยนชื่อ เป็นป้อมวิไชยประสิทธิ์) อาณาเขตของพระราชวังเดิมในสมัยนั้นมีพื้นที่ตั้งแต่วิไชยประสิทธิ์ขึ้นมาจนถึงคลองเหนือวัดอรุณราชวราราม (คลองนครบาล) โดยรวมวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) และวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) เข้าไปในเขตพระราชวัง
ต่อมาเมื่อ 28 ธันวาคม 2311 ได้ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า
“พระศรีสรรเพชร สมเด็จบรมธรรมิกราชาธิราชรามาธิบดี บรมจักรพรรดิศรบวรราชาธิบดนทร์ หริหรินทร์ธาดา
ธิบดี ศรีสุวิบูลย์ คุณรุจิตร ฤทธิราเมศวร บรมธรรมิกราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพ ตรีภูวนาธิเบศร์ โลกเชษฐวิสุทธิ์ มกุฎประเทศคตามหาพุทธังกูร บรมนาถบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัฐ ราชธานีบรีรมย์อุดม พระราชนิเวศมหาสถาน” แต่ประชาชนนิยมเรียกว่า “พระเจ้าตากสิน”
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จสวรรคต ในวันเสาร์ เดือน 5 แรม 9 ค่ำ จุลศักราช 1144 ปีขาล จัตวาศกก่อนเที่ยงวัน ตรงกับวันที่ 6 เมษายน 2325
จากการที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อแผ่นดินไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะได้ทรงกอบกู้เอกราชให้ชาติไทย รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เป็น “วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน” นอกจากนั้นคณะรัฐมนตรียังมีมติให้ถวาย พระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”

สำหรับพระราชวังกรุงธนบุรี หรือ พระราชวังเดิมในปัจจุบันได้เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพเรือ
ซึ่งในอดีตเคยเป็นที่ประทับและว่าราชการของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช นับเป็นโบราณสถานที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งในฝั่งธนบุรี และเป็นสถานที่เพียงไม่กี่แห่งที่แสดงถึงสถาปัตยกรรมในสมัยกรุงธนบุรี โดยโบราณสถานสำคัญในพระราชวังเดิมประกอบด้วย ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตำหนักเก๋งคู่ ท้องพระโรง ตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ป้อมวิชัยประสิทธิ์

กองประชาสัมพันธ์
สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ

ที่มา: สำนักข่าวคาดเชือก
เว็บไซต์: https://kardchuek.net

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,257 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Have Missed