รัฐบาลอินเดีย มีแนวคิดที่จะสร้างระบบปฏิบัติการสำหรับสมาร์ทโฟนขึ้นมาเองในชื่อ IndOS โดยมีเหตุผลหลักนั่นคือการต้องการลดความพึ่งพิงระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิล
บิสซิเนส สแตนดาร์ด สำนักข่าวท้องถิ่นในอินเดีย เปิดเผยโดยอ้างแหล่งข่าวระดับสูงในรัฐบาลอินเดีย ระบุว่า อินเดียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นตลาดใหญ่ของธุรกิจสมาร์ทโฟน ต้องการสร้างระบบปฏิบัติการขึ้นมาเป็นของตัวเอง โดยเน้นไปที่ความปลอดภัย เป็นทางเลือกใหม่ และลดโอกาสการครอบงำของแอนดรอยด์ จากค่ายกูเกิล ในชื่อ IndOS
แน่นอนว่าการพัฒนาระบบปฏิบัติการขึ้นมาเองไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วดูเหมือนว่าแผนการนี้ของรัฐบาลอินเดียเริ่มเงียบหายไปบ้างแล้ว สาเหตุสำคัญเป็นเพราะว่า การพัฒนาระบบปฏิบัติการไม่ใช่เรื่องง่าย ยกตัวอย่างเช่น ระบบปฏิบัติการ Windows Phone ของไมโครซอฟท์ ในท้ายที่สุดก็ล้มเหลว จนทำให้การแข่งขันระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟนเหลืออยู่แค่ไอโอเอส และแอนดรอยด์ เพียงสองแบรนด์เท่านั้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไมโครซอฟท์นั้นเคยทุ่มเงินมหาศาลเพื่อซื้อโนเกีย (Nokia) เป็นจำนวนเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำไปในที่สุด
เช่นเดียวกับระบบปฏิบัติการไฟร์ฟ็อกซ์ โอเอส (FireFox OS) หรือไทเซน (Tizen) ก็ล้มเหลวเช่นกัน
ขณะที่ ระบบปฏิบัติการฮาร์โมนีโอเอส (HarmoneyOS) ซึ่งพัฒนาโดยหัวเว่ย (Huawei) ก็ยังไม่สามารถเบียดขึ้นมาเป็นทางเลือกที่สามของตลาดระบบปฏิบัติการ
ประการต่อมา ที่ทำให้ระบบปฏิบัติการบนมือถือกลายเป็นฝันค้างไปในที่สุดของรัฐบาลอินเดีย ก็คงเป็นเรื่องของนักพัฒนา และผู้ผลิตอุปกรณ์สมาร์ทโฟน มีความเหนื่อยหน่ายใจที่จะต้องเจอกับความหลากหลายที่มากเกินไปของระบบปฏิบัติการ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว การมีแค่ไอโอเอส กับแอนดรอยด์ ก็อาจเป็นสิ่งที่ลงตัวที่สุดแล้วในเวลานี้
อย่างไรก็ดี แนวความคิดการสร้างระบบปฏิบัติการของรัฐบาลอินเดีย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอินเดียต้องการที่จะต่อสู้กับการผูกขาดของบริษัท Big Tech ที่กำลังเกิดขึ้นในแดนภารตะ โดยเฉพาะในรายของกูเกิล
ที่มา : The Register