อุบลฯ กรมทางหลวง ประชุมเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (สัมมนาครั้งที่2) โครงการจ้างที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจรทางเลี่ยงพิบูลมังสาหาร เพื่อเตรียมความพร้อมด้านโครงข่ายถนนเพื่อรองรับปัญหาการจราจรและการขนส่งสินค้า ทางเลี่ยงเมืองพิบูลมังสาหาร
นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้นายกำพล สิริรัตตนนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดการประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (สัมมนาครั้งที่2) โครงการจ้างที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจรทางเลี่ยงพิบูลมังสาหาร เมื่อวันที่ (21 ธันวาคม 2565) ที่ผ่านมาณ ห้องทับทิมสยาม 4 ชั้น 5 โรงแรมสุนีย์แกรนด์ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านโครงข่ายถนนเพื่อรองรับปัญหาการจราจรและการขนส่งสินค้า ทางเลี่ยงเมืองพิบูลมังสาหาร เพื่อให้เกิดเป็นโครงข่ายถนนทางเลือกสําหรับผู้เดินทางระยะไกลที่ไม่จําเป็นต้องผ่านเขตเมืองพิบูลมังสาหาร ใช้เป็นทางเลี่ยงเมือง ช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดในเมืองพิบูลมังสาหารรวมทั้งเชื่อมโยงกับถนนเส้นต่างๆ ในท้องถิ่น ทําให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ในการเดินทางและขนส่งสินค้า
โดยกรมทางหลวง ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษา ได้ดําเนินโครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสํารวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองพิบูลมังสาหาร เพื่อสํารวจและออกแบบทางเลี่ยงเมืองพิบูลมังสาหาร ให้มีขนาด 4 ช่องจราจรหรือมากกว่า และออกแบบจุดตัดทางแยกอย่างน้อย 3 แห่ง รวมทั้งออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำมูล 1 แห่ง ทั้งนี้ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ โครงข่ายทางหลวง และปริมาณจราจรในอนาคต พร้อมระบบระบายน้ำ สาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง และส่วนประกอบอื่นๆ ที่จําเป็น เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัยทางด้านการจราจร และศึกษาด้าสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับรายละเอียดการออกแบบของโครงการ
สำหรับการประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 2) ในครั้งนี้เพื่อนําเสนอผลการคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสมและรูปแบบในการพัฒนาโครงการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ได้รับทราบ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เกี่ยวกับโครงการจากผู้เข้าร่วมการประชุม เพื่อนำไปใช้ประกอบการสํารวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองพิบูลมังสาหารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนน้อยที่สุด