6 ความวายป่วงของ Twitter นับตั้งแต่มีเจ้าของใหม่ที่ชื่อ Elon Musk

6 ความวายป่วงของ Twitter นับตั้งแต่มีเจ้าของใหม่ที่ชื่อ Elon Musk

28 ตุลาคม 2022 เป็นวันที่ ทวิตเตอร์ ถูกเปลี่ยนผ่านจากบริษัทมหาชน กลายเป็นบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ โดยมีเจ้าของใหม่นามว่า อีลอน มัสก์

แม้ว่าในช่วงก่อนหน้าที่ดีลการซื้อกิจการทวิตเตอร์จะสะเด็ดน้ำก็ใช้เวลานานถึง 4 เดือน โดยช่วงเวลาดังกล่าว อีลอน มัสก์ มีความพยายามล้มดีลที่ตัวเขาสร้างขึ้นมาเอง จนต้องขึ้นโรงขึ้นศาล แต่เมื่อดีลกลับมากดปุ่มรีสตาร์ทอีกครั้งหนึ่งก็ทำให้คดีในชั้นศาลก็จบลงด้วยดีในที่สุด

การมาของอีลอน มัสก์ ที่ทวิตเตอร์ เขาใช้เงินราว 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 1.6 ล้านล้านบาท เข้าครอบครองทวิตเตอร์ ตามด้วยการปลดผู้บริหารระดับสูงของทวิตเตอร์ออกแทบจะทันที พร้อมกับรับแพ็กเกจค่าตกใจเป็นจำนวนมหาศาล

8 เดือนต่อมา อีลอน มัสก์ ปรากฏตัวที่งานสัมมนาวีวาเทค (VivaTech) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งในงานดังกล่าว มัสก์ ยอมรับบนเวทีว่า เขาไม่ได้เป็นคนฉลาดอย่างที่ใครหลายคนเคยพูดถึงเขา เพราะถ้าหากฉลาดก็คงไม่ซื้อทวิตเตอร์ในราคาแพงขนาดนี้

มัสก์ กล่าวต่อไปว่า สาเหตุการซื้อทวิตเตอร์นั่นเป็นเพราะว่าตัวเขาเป็นบิ๊กแฟนของทวิตเตอร์ (Big tweeter) และมีความเป็นกังวลถึงทิศทางที่ไม่ถูกต้องของทวิตเตอร์

มัสก์ อ้างว่า นับตั้งแต่ที่ตัวเขาเข้ามาบริหารทวิตเตอร์ ได้ทำความสะอาดปัญหาภายในแพลตฟอร์มสำเร็จไปแล้วในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องบอต และบัญชีสแกม (Scam) ไปแล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงการจัดการเนื้อหาที่แสวงหาผลประโยชน์จากเด็กไปแล้ว 95 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเรื่องเหล่านี้น่าตกใจมากเพราะหมักหมมเป็นเวลากว่า 10 ปี

อย่างไรก็ดี ไม่ว่ามัสก์จะอ้างว่าเขาทำอะไรประสบความสำเร็จในช่วงเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่เข้าบริหารทวิตเตอร์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มัสก์ เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้โลกทวิตเตี้ยน เกิดความสับสน มึนงง และเอาแน่เอานอนไม่ได้เอาเสียเลย

เลย์ออฟพนักงานลอตใหญ่
นอกเหนือจากการปลดผู้บริหารระดับสูงของทวิตเตอร์แล้วสิ่งที่อีลอน มัสก์ ทำเป็นอย่างถัดไปก็คือการปลดพนักงานออกจากบริษัทเป็นจำนวนมาก จากจำนวนพนักงานที่มีกว่า 7,500 คน หายไปมากกว่าครึ่งราวกับถูกธานอสดีดนิ้วให้หายไป ภายในเวลาไม่ถึงสัปดาห์เดียว

อีลอน มัสก์

อีลอน มัสก์ อ้างว่า พนักงานทวิตเตอร์มีมากเกินไป โดยพนักงานที่ถูกปลดก็มีด้วยกันหลายแผนก ไม่ว่าจะเป็น พนักงานที่ทำหน้าที่ดูแลส่วนของเนื้อหา, แผนกงานด้านสิทธิมนุษยชน, ทีมงานด้านการสื่อสาร และทีมงานด้านจริยธรรม ความโปร่งใส และความรับผิดชอบของแมชชีน เลิร์นนิง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การปลดพนักงานของทวิตเตอร์ ก็มีบางส่วนได้รับการว่าจ้างกลับมา โดยทวิตเตอร์อ้างว่า กระบวนการปลดคนงานออกมาจากความผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ

พร้อมกันนี้ แบรนด์สินค้าจำนวนมากตัดสินใจถอนการซื้อโฆษณากับทวิตเตอร์ ส่งผลให้ทวิตเตอร์เกิดการขาดทุน 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน จากการเปิดเผยของมัสก์ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน

ข้อมูลล่าสุดในเดือนเมษายน 2023 พบว่า ทวิตเตอร์มีพนักงานเหลือประมาณ 1,500 คน

Twitter Blue เจ้าปัญหา
ทวิตเตอร์ บลู เป็นบริการในระบบสมาชิกของทวิตเตอร์ ซึ่งอีลอน มัสก์ต้องการให้ระบบสมาชิกเป็นอีกหนึ่งช่องทางการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน เพียงแต่การมาของทวิตเตอร์ บลู ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งลูกค้าส่วนนี้จะได้ติ๊กถูกสีฟ้า

ทวิตเตอร์ บลู

แต่สุดท้าย ได้เกิดปัญหาตามมาแทบจะทันที เนื่องจากมีผู้ใช้งานทั่วไป สมัครเป็นสมาชิกทวิตเตอร์ บลู เพื่อปลอมตัวเป็นคนดังที่มีอยู่จริง ไม่ว่าจะเป็นนักบาสเกตบอลคนดังอย่างเลอบรอน เจมส์ การปลอมตัวเป็นบริษัทเกมนินเทนโด หรือแม้แต่การสร้างบัญชีเป็นพระเยซูคริสต์ เป็นต้น

สุดท้ายอีลอน มัสก์ ก็ต้องปรับแผนใหม่ โดยการยืนยันตัวแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สีน้ำเงิน สีทอง และสีเทา โดยสีน้ำเงินหมายถึงผู้ใช้งานประเภทบุคคล เครื่องหมายถูกสีเทาเป็นบัญชีที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลของแต่ละประเทศ และสีทองสำหรับบริษัทต่างๆ

ประกาศนิรโทษกรรมบัญชีทวิตเตอร์ที่ถูกแบน
อีลอน มัสก์ ได้ตัดสินใจยกเลิกโทษแบนบัญชีทวิตเตอร์ที่เคยถูกห้ามใช้งานก่อนหน้านี้จะได้รับอนุญาตให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นตัวของโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา, คานเย เวสต์ แร็ปเปอร์ และแอนดรูว์ เทต อินฟลูเอนเซอร์คนดัง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในรายของคานเย เวสต์ ก็ถูกแบนซ้ำอีกครั้ง ภายหลังละเมิดกฎการใช้งานของชุมชน และยุยงให้เกิดความรุนแรง

อีลอน มัสก์ ทวีตยอมรับว่า ตัวเขาได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว แต่ก็ต้องระงับการให้บริการบัญชี @kanyewest ในที่สุด

เปลี่ยนออฟฟิศให้เป็นห้องนอน
นับตั้งแต่การเข้ามาเป็นเจ้าของทวิตเตอร์ อีลอน มัสก์ ต้องการให้พนักงานทำงานแบบถวายหัวระดับฮาร์ดคอร์ เพิ่มชั่วโมงการทำงาน ภายใต้แคมเปญที่มีชื่อว่า ทวิตเตอร์ 2.0

ทั้งนี้ มัสก์ได้เปลี่ยนห้องประชุมบางห้องให้กลายเป็นห้องนอน โดยเตรียมฟูกและผ้าม่านเอาไว้เรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ ห้องที่ไม่ได้ใช้งานบางส่วนของทวิตเตอร์ได้ถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นการบรรจุเตียงขนาดควีนไซส์ พร้อมด้วยโต๊ะข้างเตียง โคมไฟ เก้าอี้นวมจำนวน 2 ตัว

ไม่มีความชัดเจนว่า ภายในสำนักงานใหญ่ของทวิตเตอร์มีห้องนอนทั้งสิ้นกี่ห้อง แต่ที่พอคาดเดาได้ว่าน่าจะมีห้องนอนในแต่ละชั้นมากที่สุดประมาณ 4-8 ห้องต่อชั้น

รายได้จากโฆษณาลดเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์

ลินดา ยัคคาริโน

หลังจากเปิดตัวซีอีโอคนใหม่ที่มีชื่อว่า ลินดา ยัคคาริโน ก็มีรายงานตามมาว่า รายได้ของทวิตเตอร์ในเดือนเมษายนไปจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2023 อยู่ที่ 88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่ตัวเลขดังกล่าวน้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วถึง 59 เปอร์เซ็นต์

ในเวลานั้นสำนักข่าว บิสซิเนส อินไซเดอร์ ได้สัมภาษณ์อดีตพนักงานและพนักงานปัจจุบันของทวิตเตอร์ ซึ่งพวกเขาไม่เชื่อว่าสถานการณ์ของทวิตเตอร์จะพลิกฟื้นได้เร็วนัก และมีโอกาสที่รายได้ของทวิตเตอร์ในเดือนมิถุนายนจะน้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันเมื่อเทียบกับปีก่อนอีกด้วย

จำกัดการอ่านทวีตในแต่ละวัน
นี่คือความวายป่วงล่าสุดของทวิตเตอร์ เพราะอีลอน มัสก์ ได้จำกัดการอ่านทวีตในแต่ละวัน โดยแบ่งระดับจำนวนในการอ่านขึ้นอยู่กับการเป็นสมาชิกทวิตเตอร์ บลู อ่านทวีตได้ 10,000 ทวีตต่อวัน ผู้ใช้งานทั่วไป อ่านได้ 1,000 ทวีตต่อวัน และบัญชีเปิดใหม่ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกทวิตเตอร์ บลู อ่านได้เพียง 500 ทวีตต่อวัน

อีลอน มัสก์ อ้างว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีการดึงข้อมูลเป็นจำนวนมากออกจากฐานข้อมูลของทวิตเตอร์ จนส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานทั่วไป (Normal users)

แม้ว่าอีลอน มัสก์ จะไม่ได้ขยายความชัดเจนว่า การดึงข้อมูลคืออะไร แต่ก็เชื่อว่าน่าจะเป็นเรื่องของการดึงข้อมูลจากเว็บไซต์ทวิตเตอร์ โดยไม่ต้องใช้ API อย่างเป็นทางการ ซึ่ง API ทวิตเตอร์เป็นบริการแบบเสียเงิน มีราคา 42,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน

ข้อมูลจากในปี 2015 ของทวิตเตอร์ เคยมีการเปิดเผยว่า มีผู้ชมเข้ามาดูทวีตบนทวิตเตอร์โดยที่ไม่ได้ล็อกอินมากถึง 500 ล้านคน เป็นไปได้ว่า ข้อมูลจากการทวีตบนทวิตเตอร์คือหนึ่งในวิธีการฝึกโมเดลภาษา เพื่อสร้างการเรียนรู้ของปัญญาประดิษฐ์

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการปิดกั้นไม่ให้ผู้ใช้งานทั่วไปที่ไม่ได้ล็อกอินบัญชีทวิตเตอร์เข้าถึงทวีตต่างๆ แต่ในเวลาไม่นานหลังจากนั้น มัสก์ ก็ผ่อนปรนยกเลิกให้ผู้ใช้งานที่ไม่ได้ล็อกอินสามารถมองเห็นทวีต เพียงแต่จะไม่สามารถมองเห็นทวีตของผู้ใช้งานคนอื่นๆ ที่พูดถึงทวีตนั้น และไม่สามารถเข้าถึงหน้าโปรไฟล์ของเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์

ผู้ใช้งานทวิตเตอร์จำนวนมากตั้งข้อสังเกตว่า ทวิตเตอร์ยกเลิกนโยบายไม่ให้อ่านทวีตสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป นั่นเป็นเพราะการมาของ Threads แพลตฟอร์มใหม่ที่มาจากเมตา ซึ่งมีลักษณะการทำงานแบบเดียวกับทวิตเตอร์ ได้ก้าวเข้ามาเป็นคู่แข่งรายสำคัญ

ประเด็นดังกล่าวตรงกับการให้สัมภาษณ์ของอดัม มอสเซรี หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ของอินสตาแกรม กล่าวกับสำนักข่าวเดอะ เวิร์จว่า การมีอยู่ของ Threads เกิดขึ้นจากความผันผวนและความคาดเดาไม่ได้ซึ่งเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ นั่นจึงเป็นโอกาสอันดีที่อินสตาแกรมควรสร้างโอกาสการแข่งขัน

มอสซารี กล่าวต่อไปว่า แม้ในช่วงที่ผ่านมาทวิตเตอร์จะมีความสับสนอลหม่าน แต่เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเอาชนะทวิตเตอร์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย นั่นเป็นเพราะทวิตเตอร์มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีชุมชนผู้ใช้งานที่แข็งแกร่ง มีชีวิตชีวา และเครือข่ายที่มั่นคงแข็งแกร่งอย่างไม่น่าเชื่อ

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,869 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *