พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการส่งเสริมให้เยาวชนของศาลเยาวชนและครอบครัวขับขี่ปลอดภัย ใส่ใจวินัยจราจร ระหว่าง ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กับ บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด
วันนี้ (๒๙ มีนาคม ๒๕๖๖) เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดย นายรัฐธีย์ ยมจินดา อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และ บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด โดย ดร.อารักษ์ พรประภา
รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วย การส่งเสริมให้เยาวชนของศาลเยาวชนและครอบครัวขับขี่ปลอดภัย ใส่ใจวินัยจราจร และลดการเกิดอุบัติเหตุให้แก่เยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการของศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วราชอาณาจักรและศาลจังหวัดที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว เพื่อปลูกจิตสำนึกให้แก่เยาวชนในการขับขี่ให้ปลอดภัย ส่งเสริมให้เยาวชนได้รับการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู เพื่อเป็นเยาวชนที่มีคุณภาพกลับคืนสู่ครอบครัวและสังคม รวมทั้งส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมอันจะส่งผลให้อยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างปกติสุข ซึ่งการลงนามในครั้งนี้โดยมี นางดวงใจ นาคินทร์ ใจจันทร์เดือน รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง นายนพพร วิวัฒนาภรณ์ รองอธิบดี ผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง พร้อมคณะผู้บริหารศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้พิพากษา ดร.นิลุบล ลิ่มพงศ์พันธุ์ ผู้พิพากษาสมทบ พร้อมคณะผู้พิพากษาสมทบในศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้ประนีประนอมคดีครอบครัว เจ้าหน้าที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
และคณะผู้บริหาร จากบริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น ๕ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชนที่ต้องหาว่ากระทำความผิด ตั้งแต่ชั้นถูกกล่าวหา จับกุม และดำเนินคดี ซึ่งศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วราชอาณาจักรและศาลจังหวัดที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัวในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายดังกล่าว มีภารกิจสำคัญในการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู พิทักษ์ และคุ้มครองสิทธิ์ มุ่งเน้นในการให้เด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการของศาลได้รับการฝึกอบรม สั่งสอน และสงเคราะห์ให้กลับตัวเป็นพลเมืองดียิ่งกว่าการที่จะลงโทษ โดยพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๗๓ วรรคท้าย มาตรา ๙๐ มาตรา ๑๓๒ มาตรา ๑๓๘ กำหนดมาตรการในการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กและเยาวชน ให้กลับตนเป็นคนดีของครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ดังนั้น ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางซึ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญตามหลักการดังกล่าว จึงได้จัดโครงการ “เยาวชนไทย ขับขี่ปลอดภัย ใส่ใจวินัยจราจร” เพื่อให้เยาวชนได้รับความรู้และทักษะด้านการจราจรมากขึ้น รวมทั้งมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาจราจร และลดปัญหาการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน
อันเป็นการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของเยาวชนและสังคมให้ดียิ่งขึ้น
ที่มา: สำนักข่าวคาดเชือก
เว็บไซต์: https://kardchuek.net