ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย มิจฉาชีพหลอกให้กู้เงินผ่านเว็บไซต์ปลอม ปลอมไลน์ธนาคารแห่งประเทศไทย ข่มขู่เหยื่อว่าทำผิดกฎหมาย
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอเรียนประชาสัมพันธ์เตือนภัยประชาชน กรณีมิจฉาชีพหลอกลวงประชาชนให้กู้เงินผ่านเว็บไซต์ปลอม และใช้ไลน์ธนาคารแห่งประเทศไทยปลอม ข่มขู่ว่ากระทำผิดกฎหมายให้เหยื่อโอนเงิน ดังนี้
ได้รับรายงานจากกองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ตอท.) ว่าที่ผ่านมามีผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้กู้เงินผ่านเว็บไซต์ของ บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (Country Group Holdings) ซึ่งถูกปลอมขึ้นมาให้คล้ายกับเว็บไซต์จริง โดยก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายได้เข้าเว็บไซต์ค้นหาแหล่งกู้เงินออนไลน์ ทำให้เจอเว็บไซต์ปลอมดังกล่าว มีการแอบอ้างว่าเป็นผู้ให้บริการด้านการเงินแบบครบวงจร สมัครง่าย ให้วงเงินไม่อั้น อนุมัติเร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ไม่ตรวจสอบเครดิตบูโร ใช้เอกสารน้อย ปลอดภัย และมีกฎหมาย PDPA คุ้มครอง เป็นต้น จากนั้นเมื่อผู้เสียหายเพิ่มเพื่อนทางไลน์เพื่อติดต่อไปขอรายละเอียด เจ้าหน้าที่ปลอมจะขอข้อมูลส่วนตัว ภาพบัตรประชาชน เลขที่บัญชีธนาคาร แล้วทำสัญญากู้เงินปลอม เสร็จแล้วจะให้ผู้เสียหายโอนเงินอ้างว่าเป็นค่าธรรมเนียม ค่าเบี้ยประกัน หรือค่าอื่นๆ กระทั่งผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปแล้ว มิจฉาชีพก็อ้างเหตุผลต่างๆ เพื่อให้ผู้เสียหายโอนเงินมาเพิ่มอีก เช่น โอนเงินผิดบัญชี โอนเงินเกินเวลาที่กำหนด หรือทำธุรกรรมผิดพลาด จะต้องติดต่อไปยังไลน์ของธนาคารแห่งประเทศไทยปลอม เมื่อผู้เสียหายติดต่อเข้าไปก็จะถูกข่มขู่ว่ากระทำผิดกฎหมาย ให้ทำการโอนเงินมาเพิ่มอีก ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกหลอกลวงจึงมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามกฎหมาย
ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานในด้านการป้องกันปราบปราม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง
ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันมิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นผู้ให้บริการเงินกู้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย หลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ หรือผ่านข้อความสั้น (SMS) หรือโทรศัพท์ไปยังประชาชน โฆษณาชวนเชื่อในลักษณะ กู้ง่าย อนุมัติเร็ว วงเงินสูง ดอกเบี้ยต่ำ ไม่ต้องมีหลักประกัน ใช้เอกสารน้อย เป็นต้น เพราะฉะนั้นประชาชนต้องพึงระวังการกู้เงินในลักษณะดังกล่าว ต้องรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ให้บริการได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องหรือไม่ หากจำเป็นต้องกู้เงินควรเลือกกู้เงินจากสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ และศึกษารายละเอียดของผู้ให้กู้ให้ดี รวมถึงมีสัญญาการกู้ที่ชัดเจนและเป็นธรรม เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบ หากพบเห็นความผิดปกติ หรือขอเสนอที่ดีเกินไปควรหลีกเลี่ยง อย่าหลงเชื่อว่าตัวเองโชคดี
จึงขอฝากประชาสัมพันธ์แนวทางป้องกันการถูกหลอกลวงให้กู้เงินออนไลน์ ดังนี้
1.ถ้าผู้ให้บริการกู้เงินรายใด แจ้งให้ผู้ขอกู้โอนเงินก่อน ไม่ว่าจะเป็นค่าใดๆ ก็ตาม สันนิษฐานไว้เลยว่าเป็นมิจฉาชีพหลอกลวงแน่นอน
2.ตรวจสอบผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตได้ที่เว็บไซต์ ธนาคารแห่งประเทศไทย www.bot.or.th
3.เว็บไซต์ปลอมจะไม่สามารถเข้าถึงฟังก์ชันต่างๆ ของเว็บไซต์ได้ หวังเพียงหลอกลวงให้เหยื่อเพิ่มเพื่อนทางไลน์เท่านั้น
4.ระวังไลน์ทางการปลอม ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีสัญลักษณ์ยืนยันตัวตนโล่สีเขียว หรือโล่สีน้ำเงิน หรือไม่
5.ไม่ควรกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ที่ถูกส่งลิงก์แนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ
6.แอปพลิเคชันเงินกู้นอกระบบ มักจะตั้งชื่อคล้ายคลึงกับผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต หรือแอบอ้างเป็นผู้ได้รับอนุญาต ควรสอบถาม หรือหาข้อมูลด้วยตนเองจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ว่าเป็นแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการจริงหรือไม่
7.แอปพลิเคชันเงินกู้สามารถเข้าถึงข้อมูลรายชื่อผู้ติดต่อในโทรศัพท์ มิจฉาชีพจะนำข้อมูลที่ได้ไปข่มขู่บุคคลดังกล่าว เพื่อให้ผู้กู้อับอายรีบนำเงินมาชำระโดยเร็ว
8.ไม่ควรหลงเชื่อเพียงเพราะมีการสร้างความน่าเชื่อ เช่น สอบถามข้อมูลส่วนตัว ให้ทำสัญญาเงินกู้ และขอเอกสารต่างๆ เช่น สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สมุดบัญชีเงินฝาก คล้ายกับการขอกู้ที่ธนาคารจริง
ที่มา: สำนักข่าวคาดเชือก
เว็บไซต์: https://kardchuek.net