นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยหลังการหารือและฝึกอบรมให้ความรู้การใช้งานโซเชียลมีเดียให้กับ 19 กระทรวงเพื่อรับมือการถูกแฮ็กข้อมูลว่า ปัญหาการถูกแฮ็กสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียของหน่วยงานภาครัฐมีมาอย่างต่อเนื่อง ดีอีเอสจึงได้จัดอบรมการให้ความรู้แก่หน่วยงานภาครัฐในการตั้งค่าและตรวจสอบการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัย พร้อมแนะนำวิธีปฏิบัติที่ได้ผลเป็นอย่างดีและง่าย เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐรับมือกับปัญหาและแก้ไขได้ทันที หากเกิดปัญหาถูกแฮ็ก
“เนื้อหาอบรมยังครอบคลุมการแฮ็กระบบที่คาดไม่ถึง เช่น อีเมลซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งในการแฮ็ก เช่น การสังเกตประวัติการใช้งานอีเมล การตรวจสอบประวัติการเข้าใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ และแนวทางลดการสูญเสียของข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยแนะนำการสำรองข้อมูล เพื่อให้มีข้อมูลไว้ใช้หากเกิดเหตุไม่คาดคิด และสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานในการกู้คืนกับผู้ให้บริการในต่างประเทศได้”
สำหรับแนวทางการป้องกันมียกตัวอย่างเช่น 1.สังเกตผู้ใช้งานอื่นๆ ที่มาติดต่อ ดูว่าผิดปกติหรือไม่ เช่น มีการเปลี่ยนชื่อบ่อย, มีคนดูแลเพจหลากหลายประเทศ, มีการสร้างคอมเมนต์ซ้ำๆ ในเพจ 2.การกำหนดแอดมิน โดยตั้งระดับแอดมิน ระดับท็อปไว้ 1 บัญชีเท่านั้น นอกนั้นให้เป็นระดับที่ไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้และต้องมีการตรวจสอบบัญชีอีเมลที่ใช้งานให้สามารถเข้าใช้งานได้สม่ำเสมอ ห้ามทิ้ง และต้องผูกกับเบอร์โทรศัพท์มือถือด้วย และทุกบัญชีที่เป็นแอดมินต้องจดบันทึกว่ามีใครบ้าง มีการผูกกับอีเมลหรือโทรศัพท์เบอร์ใด
- หากถูกแฮ็กให้ตรวจสอบบัญชีอีเมลที่ใช้งานของทุกแอดมินว่าเข้าได้หรือไม่, ตรวจสอบทุกบัญชีที่เชื่อมโยงกับเพจว่ายังสามารถเข้าถึงได้หรือไม่ เมื่อตรวจสอบแล้ว หากพบปัญหาให้บันทึกไว้ และแยกออกจากกลุ่ม และให้ส่งข้อมูลไปยังผู้ให้บริการ 4.รู้จักวิธีการสำรองข้อมูล เพื่อใช้ในการอ้างอิงเวลากู้คืนข้อมูล ตลอดจนสามารถเรียกข้อมูลบางส่วนที่ถูกลบให้สามารถกลับมาใช้งานได้ 5.รู้จักช่องทางในการรายงานกรณีถูกแฮ็ก ตลอดจนการเก็บหลักฐานที่ถูกต้อง เพื่อให้สามารถรายงานได้ด้วยตนเอง และมีแนวโน้มสูงที่จะกู้บัญชีกลับมาใช้งานได้
“ปัจจุบันโซเชียลมีเดียของหน่วยงานภาครัฐถุูกแฮ็กต่อเนื่อง ทำให้ข้อมูลรั่วไหล หรือถูกแชร์ข้อมูลที่ไม่เหมาะสม เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ดีอีเอสจึงจัดอบรมเพื่อให้ความรู้แก่หน่วยงานภาครัฐในการตั้งค่าและตรวจสอบการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัย และนำความรู้ไปใช้งานและถ่ายทอดต่อได้”.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/