รมว.อุตสาหกรรม ยันไม่เคยกดดัน อธิบดีกรมโรงงานฯ หลังแจ้งลาออกกลางวงประชุม กมธ.อุตสาหกรรม เผยเป็นรัฐมนตรี 7 เดือนเห็นปัญหาหลายจุด มีทั้งคนทำงานแต่ไม่เห็นผลงาน บอกห้องเปิดตลอด ขรก.คนไหนอยากคุยก็ยินดี รับโรงงานที่ทำผิดกฎหมายเริ่มขยับ
วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีที่นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ที่แจ้งว่าได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งแล้วในระหว่างที่เข้าประชุมคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎรเมื่อวานนี้ ว่า ตนเองยังไม่ทราบเรื่องนี้และเพิ่งจะทราบจากสื่อมวลชน และนายจุลพงษ์ก็ยังไม่ได้ติดต่อเข้ามาซึ่งล่าสุดที่ได้เจอกันก็คือการลงพื้นที่ที่จังหวัดระยอง ที่นายกรัฐมนตรีลงไปหน้างาน หลังจากนั้นก็ไม่ได้รับการติดต่อใดๆ มา ส่วนเรื่องเหตุการณ์ไฟไหม้ที่เกิดขึ้นถี่โดยเฉพาะในเดือนเมษายน ซึ่งเรื่องการจัดการปัญหาไม่ได้มอบเฉพาะเจาะจงแต่เป็นการทำงานของกระทรวง ซึ่งทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประชุมผู้บริหารเกือบทุกสัปดาห์ เดือนละสองครั้งได้กำชับว่าหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินก็ต้องรายงานเข้ามาให้ทราบถึงแนวทางการแก้ปัญหา และได้ย้ำไปตลอดว่าพื้นที่ไหนที่เป็นจุดละเอียดอ่อน ที่จะเกิดไฟไหม้ ให้ลงไปสำรวจเป็นกรณีพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นที่ระยองหรือล่าสุดที่อำเภอภาชี ดังนั้น จะทำงานตามที่ได้มอบหมายไม่ได้แต่ต้องใส่ใจมากกว่าเดิม ตนเองเข้ามาเป็นรัฐมนตรีตั้งแต่วันแรกก็พยายามปรับทัศนคติข้าราชการในกระทรวง ย้ำไปตลอดว่าไม่ให้ทำแค่ตามกฎหมายเท่านั้นแต่ต้องยึดเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ซึ่งเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นที่อาจเกิดจากหลายสาเหตุ ก็ต้องให้ฝ่ายสืบสวนสอบสวนไป ส่วนจะเป็นการลักลอบวางเพลิงหรือไม่ก็เป็นขั้นตอนของการสืบสวน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ขึ้นแล้ว ทุกคนต้องทำงานเชิงรุกเพื่อที่จะรับมือไม่ใช่คิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของตนเองจึงไม่ทำ
ส่วนทุกครั้งที่เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานอุตสาหกรรม โดยความรับผิดชอบที่จะต้องรายงานและเข้าไปดูพื้นที่ก็คืออุตสาหกรรมจังหวัด ต้องรายงานมาที่ผู้ตรวจราชการของกระทรวงฯ แต่ระยะหลังตนเองกลับทราบจากสื่อมวลชนจึงเห็นการสื่อสารที่ไม่ปกติ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจหากไม่ได้รายงานมาก็สอบถามไป แต่เรื่องที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้จะโทษอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม แต่โดยหน้าที่ถือว่าต้องสนใจและรับผิดชอบ ไม่ใช่ทุกครั้งที่เกิดเรื่องจะต้องมานั่งถามหาว่าเป็นความรับผิดชอบของใครแล้วใครจะต้องลงไปดู
ทั้งนี้ตั้งแต่ที่ตนเองเข้ามาเป็นรัฐมนตรีที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ 7 เดือน ก็ได้เห็นปัญหาหลายอย่างโดยเฉพาะได้เห็นว่าใครทำงาน และใครมีผลงาน แต่ขอยืนยันว่า การลาออกของนายจุลพงษ์ ตนเองไม่ได้ไปกดดันการทำงานเหมือนอย่างที่หลายคนตั้งข้อสังเกต ส่วนที่มีรายงานข่าวว่าตนเองพยายามจะย้าย นายจุลพงษ์ โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้านั้น ก็ไม่เป็นความจริง ส่วนที่นายจุลพงษ์ลาออกจะมอบหมายงานให้ใครมาทำต่อนั้นก็ต้องเป็นรองอธิบดีหรือคนที่มีหน้าที่ในระดับรองลงมา เข้ามาดูแลซึ่งก็ไม่ส่งผลผลกระทบกับการทำงานในกระทรวง
นางพิมพ์ภัทรา บอกอีกว่าประตูห้องทำงานของตนเองเปิดตลอดหากใครหรือข้าราชการคนไหนต้องการมาพูดคุยก็พร้อมที่จะต้อนรับ ส่วนนายจุลพงษ์ก็ยังไม่ได้รับการติดต่อแต่หากเจ้าตัวอยากมาคุยก็ยินดีเช่นกัน
ส่วนการควบคุมและตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมหลังจากนี้ ก็จะต้องทำอย่างเข้มข้นเพราะยังอยู่ในช่วงฤดูร้อนและก่อนจะเข้าฤดูฝนการกำจัดกากสารเคมี เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบโรงงานอุตสาหกรรมได้รับความเดือดร้อน ขณะเดียวกันหลังจากเกิดปัญหาเพลิงไหม้ยอมรับว่าโรงงานที่กระทำผิดกฎหมายหรืออยู่นอกเหนือการควบคุมเริ่มมีการขยับ จึงทำให้การตรวจสอบและการทำงานเป็นไปได้ยากมากขึ้น แต่ได้ขอความร่วมมือจากฝ่ายความมั่นคงเพื่อให้เข้ามาช่วยตรวจสอบและทำงาน
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/
cBUGPzQRd