นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) เปิดเผยว่า ธนาคารพาณิชย์ของไทยมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง มีเงินกองทุน และสำรองหนี้เสียสูงสุดในเอเชีย ซึ่งตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงเงินกองทุนขั้นที่ 1 ไว้ที่ 4.25 % แต่ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีกองทุนขั้นที่ 1 สูงถึง 15 % หรือมากกว่าเกือบ 4 เท่า ดังนั้นปัญหาที่มีบริษัทขนาดใหญ่กำลังมีปัญหา 1-2 ราย ไม่ได้ส่งผลกระทบจนซ้ำรอยเหมือนกับวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540
“เคสที่กำลังเกิดขึ้น 1-2 บริษัท ไม่ได้ส่งผลกระทบให้ธนาคารพาณิชย์ของไทย เกิดปัญหาเหมือนกับวิกฤติต้มยำกุ้ง ผมมองว่ายังห่างไกลมาก ตอนนี้ธนาคารพาณิชย์มีการกำกับดูแลที่เข้มงวด และทางการไทยทำได้ดี ต่างจากเดิมเมื่อธนาคารพาณิชย์เกิดหนี้เสีย จึงจะเริ่มสำรอง ตอนนี้แค่มีสัญญาณว่าจะเป็นหนี้เสีย ธปท.ให้กันสำรองแล้ว
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นกับบริษัทรายใหญ่แห่งหนึ่งประสบปัญหาผิดนัดชำระหนี้ ถือเป็นบทเรียนให้กับธนาคาร ต้องมีการตรวจสอบมากขึ้น บริษัทที่โตรวดเร็วมีอะไรพิเศษหรือเปล่า โตเพราะเศรษฐกิจโตหรือไม่ หรือเก่งอะไรเป็นพิเศษ จากนี้ก็ต้องตรวจสอบและระมัดระวังมากขึ้น และธนาคารแห่งใดที่ปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทดังกล่าวก็ต้องบาดเจ็บ รับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
ในส่วนธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐฯที่ประสบปัญหาฐานะการเงิน ก็มีความแตกต่างกับธนาคารพาณิชย์ของไทย เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้นำเงินฝากไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล 40-50% ของเงินฝากทั้งหมด เมื่อดอกเบี้ยเงินฝากปรับขึ้นรวดเร็วไป และไปที่ 5 % ผลตอบแทนดอกเบี้ยพันธบัตรเป็นแบบคงที่ ทำให้ธนาคารประสบปัญหาขาดทุนทันที ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ของไทย การบริหารสภาพคล่องไม่ได้นำเงินไปลงทุนพันธบัตรมากมาย แม้ดอกเบี้ยเงินฝากจะปรับขึ้น ธนาคารพาณิชย์ของไทยก็ไม่ประสบปัญหาแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น โดยเฉพาะในปีนี้สินเชื่อของธนาคารจะไม่เติบโต โดยในปีนี้สินเชื่อเติบโต 1-2 % เนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้จะมีผลทันที ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากจะปรับขึ้นตามมา ส่งผลให้บริษัทขนาดใหญ่จะมีการออกหุ้นกู้เพื่อล็อกต้นทุนการเงิน ขณะที่ผู้ฝากเงินต้องการดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จึงไปลงทุนหุ้นกู้ของบริษัทขนาดใหญ่
นายปิติกล่าวอีกว่า จากภาวะการเมืองในปัจจุบันมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน สะท้อนได้จากภาวะตลาดหุ้น เห็นได้จากเสียงเรียกร้องของนักธุรกิจที่ต้องการความชัดเจน อย่างไรก็ตามเชื่อว่า สุดท้ายจะมีทางออกเสมอ.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/