เคาะลดค่าเอฟที 7 สตางค์ แจงบิลค่าไฟแพง เหตุร้อนจัดแอร์ทำงานหนัก

เคาะลดค่าเอฟที 7 สตางค์ แจงบิลค่าไฟแพง เหตุร้อนจัดแอร์ทำงานหนัก

โฆษกรัฐบาลแจงสี่เบี้ยบิลค่าไฟแพงขึ้น เพราะอากาศร้อนจัดแอร์ทำงานหนัก ไม่ได้ขึ้นค่าไฟฟ้า ด้านอนุกรรมการเอฟทีเคาะลดค่าไฟ 7 สตางค์ต่อหน่วย เหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย ทันรอบบิลเดือน พ.ค.นี้ ขณะที่หอการค้าไทยแนะรัฐเร่งตั้ง กรอ.พลังงาน เพื่อร่วมพิจารณาตัวเลขค่าไฟรอบใหม่ก่อนประกาศใช้ ด้านกรมการค้าภายในจับตาผลกระทบค่าไฟต่อราคาสินค้า ย้ำยังไม่ให้ขึ้นราคา

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้ความสำคัญและติดตามสถานการณ์เรื่องค่าไฟฟ้าใกล้ชิด ห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พยายามหาทางช่วยเหลืออยู่ เพื่อแบ่งเบาภาระให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

นายอนุชา กล่าวต่อว่า การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ยืนยันว่า การคิดค่าไฟฟ้าช่วงนี้ ยังใช้หลักเกณฑ์วิธีการคิดจากหน่วยการใช้ไฟฟ้า ในอัตราเดิมตามที่นโยบายของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนด ส่วนสาเหตุที่ทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากช่วงนี้อากาศร้อนจัด บางพื้นที่มีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ทำความเย็นต้องทำงานมากขึ้นและใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น เห็นได้จากค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ มีค่าเท่ากับ 8,904.66 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 18 เม.ย.66 เพราะมีการใช้เครื่องปรับอากาศหรือแอร์มากขึ้น เพราะในภาวะอากาศปกติ อุณหภูมิภายนอกอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส หากปรับอุณหภูมิแอร์ในห้องที่ 26 องศา แอร์ต้องทำงานเพื่อลดอุณหภูมิให้ได้ 4 องศาเซลเซียส แต่ช่วงที่อากาศร้อนจัด อุณหภูมิภายนอก 40 องศาเซลเซียส หากตั้งอุณหภูมิแอร์ในห้องเท่าเดิมไว้ที่ 26 องศาเซลเซียส แอร์ต้องทำงานเพื่อลดอุณหภูมิให้ได้ถึง 14 องศาเซลเซียส แอร์จึงทำงานหนักมากขึ้น และกินไฟมากกว่าเดิม จึงเป็นสาเหตุทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ จากการทดสอบพบว่า อุณหภูมิภายนอกที่เพิ่มขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียส แอร์จะกินไฟเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% แม้จะใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในเวลาเท่ากันหรือตั้งค่าอุณหภูมิเท่าเดิมก็ตาม ประกอบกับมีการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆเพิ่มขึ้น เช่น การเปิดปิดตู้เย็นบ่อยครั้ง หรือการใช้น้ำอุปโภคบริโภคมากขึ้น ทำให้ปั๊มน้ำทำงานมากขึ้น ล้วนทำให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

เดือน พ.ค.ค่าไฟเหลือ 4.70 บาท/หน่วย

ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่า เมื่อวันที่ 21 เม.ย.66 คณะอนุกรรมการค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) มีมติเห็นชอบตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอขอรับภาระยืดหนี้การชำระค่าไฟฟ้าวงเงิน 130,000 ล้านบาท แทนประชาชนจาก 5 งวด ที่มีการเรียกเก็บค่าเอฟทีทุก 4 เดือน หรือ 20 เดือน จากงวดละ 27,000 ล้านบาท เป็น 6 งวด หรือ 24 เดือน เป็นเหลือเพียงงวดละ 22,000 ล้านบาท

ดังนั้น จึงทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดที่ 2 ของปีนี้ (พ.ค.-ส.ค.) ลดลง 7 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วย จากเดิมที่ประกาศจัดเก็บ 4.77 บาท เหลือเพียง 4.70 บาทต่อหน่วย โดยหลังจากนี้บอร์ด กกพ.จะประชุมเพื่อพิจารณาข้อสรุปในวันที่ 24 เม.ย.นี้ ขณะที่ตามขั้นตอนการพิจารณาของ กกพ. สามารถแจ้งต่อการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ให้ออกใบแจ้งหนี้ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าได้ทันตามกำหนดรายเดือนในใบแจ้งหนี้เดือน พ.ค.นี้ เพราะใบแจ้งหนี้ของทั้ง 2 การไฟฟ้าจะเริ่มทยอยส่งให้ประชาชนตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค.เป็นต้นไป

ร้อนจัด! ใช้ไฟฟ้าพีกทุบสถิติ

ขณะที่ล่าสุด สภาพอากาศร้อนจัดทำให้เกิดการใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะแอร์หรือพัดลมมากขึ้นของประชาชนทั้งประเทศทำให้เวลา 14.56 น. ของวันที่ 21 เม.ย.66 เกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (พีก) ของ 3 การไฟฟ้า อยู่ที่ 33,384.7 เมกะวัตต์ ถือเป็นครั้งที่ 6 ในปีนี้ และเป็นการทำลายทุกสถิติตั้งแต่มีการเกิดพีกในประเทศไทยมา จากเดิมสูงสุดเป็นวันที่ 28 เม.ย.65 ณ เวลา 14.30 น. อยู่ที่ 33,177.3 เมกะวัตต์

สำหรับสถิติ 5 ครั้งที่ผ่านมาของปีนี้ คือ ครั้งแรกวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา อยู่ที่ 31,054.6 เมกะวัตต์ ครั้งที่ 2 วันที่ 4 เม.ย. อยู่ที่ 31,495.5 เมกะวัตต์ ครั้งที่ 3 วันที่ 6 เม.ย. อยู่ที่ 32,963 เมกะวัตต์ ครั้งที่ 4 วันที่ 19 เม.ย. อยู่ที่ 32,212.5 เมกะวัตต์ ครั้งที่ 5 วันที่ 20 เม.ย. ทำให้คาดว่าโอกาสพีกสูงสุดยังเกิดขึ้นได้อีก เพราะอากาศร้อนรุนแรงและสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้คาดการณ์ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดปีนี้จะมากกว่า 39,000 เมกะวัตต์

ยังไม่กระทบต้นทุนสินค้า

ด้าน ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงผลกระทบค่าไฟฟ้าต่อราคาสินค้าว่า กรมได้ติดตามสถานการณ์ค่าไฟฟ้าใกล้ชิดหลังประชาชนกังวลว่า ค่าไฟแพงอาจกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า และอาจมีผลทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งสินค้ามีต้นทุนจากค่าไฟฟ้าและพลังงานแตกต่างกัน แม้มีผู้ประกอบการแจ้งกรมขอปรับขึ้นราคามาบ้าง แต่กรมยังไม่อนุญาตให้ขึ้น เนื่องจากต้องดูต้นทุนอื่นๆ ประกอบด้วย ซึ่งต้นทุนหลายรายการมีแนวโน้มลดลง เช่น วัตถุดิบต่างๆ รวมถึงต้นทุนค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค. ก็จะลดลงจาก 5 บาทกว่าต่อหน่วย เหลือ 4.77 บาทต่อหน่วย ดังนั้น ผลกระทบจากค่าไฟฟ้าต่อต้นทุนสินค้าไม่น่าจะเพิ่มขึ้น

ส่วนต้นทุนอื่นๆ ทั้งราคาน้ำมัน และวัตถุดิบ ปรับลงต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนสินค้าไม่เพิ่ม แต่มีต้นทุนค่าแรงงานที่ต้องจับตา แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการจะบริหารจัดการได้ ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือตรึงราคาสินค้า เพื่อรักษายอดขายและลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน

เอกชนแนะรัฐตั้ง กรอ.พลังงาน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค.นี้ ที่ กกพ. มีมติให้ลดลงเหลือ 4.70 บาทต่อหน่วยนั้น เป็นแนวโน้มที่ดีต่อเอกชนและประชาชน อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนอยากเห็นรัฐบาลกล้าตัดสินใจลดค่าไฟฟ้าทันที โดยไม่ได้มองว่าเป็นประเด็นที่จะใช้หาเสียงเลือกตั้ง เพราะตอนนี้เป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนเห็นตรงกันทั่วประเทศ หากปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อไปถึงรัฐบาลใหม่ จะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศมหาศาล หากเร่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน (กรอ.พลังงาน) เพื่อพิจารณาโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศร่วมกันใหม่ ก่อนสรุปเป็นตัวเลขในการลดค่าไฟฟ้า รวมถึงชี้แจงรายละเอียดและความจำเป็นให้ได้รับทราบ เชื่อว่าทุกภาคส่วนจะยอมรับและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกันต้องเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลชุดถัดไป ที่ต้องสะสางปัญหาโครงสร้างค่าไฟฟ้าทั้งระบบ.

ผู้นำเสนอข่าว

Lemon

Written by:

720 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *