บิ๊กรับเหมา จ้องตาเป็นมัน เล็งทึ้งบิ๊กโปรเจ็กต์แสนล้านคมนาคมเทกระจาด โครงการขนาดใหญ่ ปี 66 สะพัด 55 โครงการ พร้อมดันเข้าครม. ม.ค.-ก.พ.นี้ 9 โครงการ 5 แสนล้าน
การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนลงสู่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องรวมถึงระบบฐานราก ทั้งนี้แหล่งข่าวจากสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า
ภาคก่อสร้างต้องการให้ภาครัฐเร่งรัดเปิดประมูลโครงการใหม่ทั้งแบบจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึง การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP ทั้งระบบ ในปีงบประมาณ2566 โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม ซึ่งจะส่งผลดีให้กับภาคเอกชนและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศหลังฟื้นไข้หลังจากสถานการณ์โควิด
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการใหม่ที่จะถูกผลักดันให้เกิดการลงทุนในปี 2566 รวม55 โครงการวงเงินลงทุน 1.2 แสนล้านบาท อาทิทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ส่วนต่อขยายยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลเวย์) (M5) วงเงิน 28,700 หมื่นล้านบาท,มอเตอร์เวย์สาย M9 วงแหวนตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง วงเงิน 56,000 ล้านบาท
มอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา (M7) วงเงิน 4,500 ล้านบาท,ทางพิเศษ เมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้-ป่าตอง วงเงิน 45,000 หมื่นล้านบาท, โครงการเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3 วงเงิน 32,000 ล้านบาท,โครงการแลนด์บริดจ์(Landbridge) ชุมพร-ระนอง วงเงิน 1.1 ล้านล้านบาท
ขณะโครงการที่มีความพร้อม ผลักดันเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนมกราคม- กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งอยู่ในช่วงของการทำงานภายใต้รัฐบาลชุดนี้ เบื้องต้นประเมินว่าจะมี 9 โครงการ วงเงินรวมกว่า 5แสนล้านบาท อาทิ 1. รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 3 แสนล้านบาท
2.รถไฟชานเมืองสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร วงเงิน 10,670 ล้านบาท 3.รถไฟชานเมืองสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร วงเงิน 4,694 ล้านบาท4.รถไฟชานเมืองสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร วงเงิน 6,468 ล้านบาท
5.ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ -หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กิโลเมตร วงเงิน 47,000 ล้านบาท 6. รถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น -หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 29,748 ล้านบาท 7.รถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร วงเงิน 62,800 ล้านบาท
8. รถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร วงเงิน 37,500 ล้านบาท และ 9. ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) บางปะอิน- นครราชสีมา จำนวน 16 ตอน วงเงินราว 6,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเปิดประมูลก่อสร้างหลังจากที่ก่อนหน้านี้มีความจำเป็นต้องปรับแบบก่อสร้างให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่จะเสนอต่อ ครม.เพื่อขอความเห็นชอบกรอบการดำเนินงานอีกหนึ่งโครงการสำคัญ คือ โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเปรียบเทียบต้นทุนการลงทุนจากโครงการที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเสนอ ครม.พิจารณาภายในเดือนมกราคม 2566
ขณะกรมทางหลวง มีแผนนำร่องเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่ จำนวน 7 โครงการ วงเงิน 98,231 ล้านบาท อาทิ โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา (ช่วงชลบุรี-พัทยา) พื้นที่ 121 ไร่ วงเงิน 3,757 ล้านบาท 2.โครงการรสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง (ช่วงพัทยา-มาบตาพุด) พื้นที่ 77 ไร่ วงเงิน 2,476 ล้านบาท ฯลฯ
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า ส่วนแผนลงทุนในปี 2566 กทพ.อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดพัฒนาโครงการทางพิเศษสายใหม่ 5 โครงการ วงเงินรวมกว่า 110,000 แสนล้านบาท ซึ่งจะทยอยเปิดประกวดราคา มั่นใจว่าจะ
สอดรับต่อความต้องการของประชาชน เนื่องจากขณะนี้มีการขยายขนาดเมืองและหัวเมืองท่องเที่ยว พบว่าเริ่มมีปัญหาปริมาณการจราจรแออัด อาทิ โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทางรวม 11.3 กิโลเมตร วงเงินราว 18,000 ล้านบาท
โครงการทางพิเศษ สายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR 10) ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 18,000 ล้านบาท ฯลฯ