ธุรกิจญี่ปุ่นยันไม่ถอนทุนจากไทย แม้ซมพิษโควิดคาดปี 66 ดีขึ้นแน่หลังท่องเที่ยวฟื้น

ธุรกิจญี่ปุ่นยันไม่ถอนทุนจากไทย แม้ซมพิษโควิดคาดปี 66 ดีขึ้นแน่หลังท่องเที่ยวฟื้น

หอการค้าญี่ปุ่น เผยธุรกิจญี่ปุ่นในไทยครึ่งหลังปี 65 บอบช้ำจากราคาพลังงาน-วัตถุดิบพุ่ง และขาดแคลน ค่าขนส่งทะยาน แต่คาดครึ่งแรกปี 66 ดีขึ้น จากท่องเที่ยวฟื้น หนุนเศรษฐกิจโต ย้ำส่วนใหญ่ไม่มีแผนถอนทุนจากไทย ด้าน “สุพัฒนพงษ์” ยันต้นทุนทำธุรกิจในไทยแข่งขันได้เมื่อเทียบกับคู่แข่งในอาเซียน

นายคุโรดะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพฯ (เจโทรกรุงเทพฯ) ในฐานะหัวหน้าคณะสำรวจด้านเศรษฐกิจ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ เปิดเผยถึงผลสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในไทย ครึ่งหลังปี 65 จากการส่งแบบสอบถามไปยังบริษัทสมาชิก 1,627 ราย ช่วงวันที่ 29 พ.ย.-23 ธ.ค.65 โดยมีบริษัทตอบกลับ 508 ราย คิดเป็น 31.2% ว่า ดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับ 21 ลดลงจากครึ่งแรกของปี 65 ที่อยู่ที่ระดับ 27 เพราะได้รับผลกระทบจากราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่สูงขึ้น, เงินเฟ้อทั่วโลกสูงฉุดกำลังซื้อผู้บริโภค และความ ต้องการซื้อสินค้าลดลง กระทบต่อการส่งออก อีกทั้งยังมีปัญหาการแข่งขันกับบริษัทอื่นที่รุนแรงขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น ฯลฯ

ทั้งนี้ ธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม และบริการทั้งหมดได้รับผลกระทบ ทั้งอาหาร สิ่งทอ เคมีภัณฑ์ เหล็ก/โลหะอื่นที่ไม่ใช่เหล็ก เครื่องจักรทั่วไป เครื่องจักรไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรที่ใช้ในการขนส่ง รวมถึงบริษัทการค้า ค้าปลีก การเงิน/ ประกันภัย/หลักทรัพย์ ก่อสร้าง/วิศวกรรม การขนส่ง/การสื่อสาร

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจคาดว่าช่วงครึ่งแรกของปี 66 แนวโน้มเศรษฐกิจจะดีขึ้น โดยมีค่าดัชนีคาดการณ์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 28 เพราะคาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไทยเพิ่มขึ้นมาก ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ และปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบและชิ้นส่วนจะคลี่คลาย นอกจากนี้ ธุรกิจ 35% คาดจะส่งออกดีขึ้น อีก 51% คาดส่งออกคงที่ มีเพียง 14% คาดจะส่งออกลดลง โดยตลาดส่งออกที่มีศักยภาพ อันดับ 1 คือ เวียดนาม ตามด้วยอินเดีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น ดังนั้น ธุรกิจ 31% จึงคาดจะลงทุนเพิ่มด้านโรงงานและเครื่องจักร แต่อีก 46% ลงทุนคงที่ มีเพียง 16% ที่ลดการลงทุน

“แม้ช่วงครึ่งแรกปี 66 การทำธุรกิจจะดีขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยมากถึง 72% ได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่สูงขึ้น, 62% ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น, 50% ต้นทุนการจัดซื้อสูงขึ้น, 43% ต้นทุนพลังงานสูงขึ้น รวมถึงขาดแคลนวัตถุดิบและชิ้นส่วน ส่งผลให้ธุรกิจถึง 66% คงขนาดธุรกิจเท่าปัจจุบัน ส่วนอีก 25% ขยายกิจการ อีก 8% จะย้ายฐานจากประเทศอื่นมาไทย มีเพียง 1% ลดขนาดกิจการ และย้ายฐานจากไทยไปประเทศอื่น”

นายคุโรดะกล่าวอีกว่า ภาคธุรกิจมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ได้แก่ พัฒนาปรับปรุงกฎระเบียบ และบังคับใช้กฎระเบียบเกี่ยวกับภาษีศุลกากร และพิธีการศุลกากร, รักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน, พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง และสื่อสาร, แก้ปัญหาอุทกภัย, ผ่อนปรนกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ฯลฯ

ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันต้นทุนการทำธุรกิจของไทยภาพรวมไม่ได้สูงกว่าคู่แข่งและแข่งขันได้ แม้เอกชนมองว่าค่าไฟฟ้าสูงกว่าประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะคู่แข่งอย่างเวียดนาม และอินโดนีเซีย แต่ขอให้มองในภาพรวมของต้นทุนทั้งหมด เช่น อัตราดอกเบี้ย ที่ไม่ได้สูงกว่าประเทศอื่น

“หากจะมองว่าดอกเบี้ยนโยบายไทยที่ 1.5% สูงเกินไป ก็ต้องไปดูคู่แข่ง เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ว่าเท่าไหร่ เอกชนชอบเทียบค่าไฟ แต่ไม่เทียบดอกเบี้ย ต้องดูต้นทุนการทำธุรกิจทั้งหมดแล้วมาเทียบกัน ส่วนที่ภาครัฐดูแลก็ทำไปหมดแล้ว ที่เหลือจะเชิญเอกชนร่วมหารือด้วย จะไม่ขอบ่น ขอให้ช่วยทำ มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเหมาะสม ไม่เป็นภาระกับผู้ประกอบการมากเกินไป”

สำหรับอัตราดอกเบี้ย ต้องดูความสามารถแข่งขันด้วย เพราะหลายประเทศปรับขึ้นนานแล้ว เวียดนามขึ้นไปกว่า 4% แต่ไทยขึ้นเกือบ 2% แม้หลายคนมองว่าเงินบาทไหลออก แต่ไม่ได้ไหลออก กลับแข็งค่าด้วยซ้ำ เพราะเศรษฐกิจดีขึ้น ท่องเที่ยวฟื้นตัว ปัญหาใหญ่ของไทยขณะนี้ คือ ต้องดูแลคนที่หนี้มีปัญหา มีหนี้ค้าง และมีหนี้ครัวเรือน ซึ่งรัฐบาลพยายามดูแลอยู่.

ผู้นำเสนอข่าว

Lemon

Written by:

720 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

19 thoughts on “ธุรกิจญี่ปุ่นยันไม่ถอนทุนจากไทย แม้ซมพิษโควิดคาดปี 66 ดีขึ้นแน่หลังท่องเที่ยวฟื้น