ความสำเร็จของ อบต.เกาะหมาก จ.พัทลุง ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งธนาคารกุ้งก้ามกราม เพื่อนำลูกกุ้งปล่อยกลับลงสู่ทะเลสาบสงขลา หวังเพื่อรักษากุ้ง 3 น้ำของท้องถิ่นให้อยู่คู่ทะเลสาบสงขลาตลอดไป
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ที่ศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ อบต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผวจ.พัทลุง และนายวรินทร ทองขาว นายอำเภอปากพะยูน พร้อมคณะ ได้ออกตรวจเยี่ยมศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ หรือธนาคารกุ้งก้ามกรามของ อบต.เกาะหมาก เพื่อให้มีการปล่อยพันธุ์กุ้งดังกล่าวลงสู่ทะเลสาบสงขลา อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมทะเลสาบสงขลา สามารถจับกุ้งขาย หาเลี้ยงครอบครัวได้ต่อไป
โดยทาง ผู้ว่าฯ พัทลุง กล่าวชื่นชมกับความสำเร็จของสมาชิก อบต.เกาะหมาก ที่มีความร่วมมือกันเพาะพันธุ์กุ้งก้ามกราม เพื่อเพิ่มเติมพันธุ์กุ้งก้ามกรามปล่อยลงสู่ทะเลสาบอย่างต่อเนื่อง โดยการเพิ่มจำนวนกุ้งก้ามกรามลงสู่ทะเลสาบนั้นก็จะสร้างรายได้ให้ชาวประมงในพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียงเพิ่มขึ้นเช่นกัน พร้อมช่วยเหลือต่อยอดให้มีแหล่งศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ หรือธนาคารกุ้งก้ามกราม เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณกุ้งก้ามกรามในทะเลสาบสงขลาต่อไป
กุ้งก้ามกรามทะเลสาบสงขลา หรือ กุ้ง 3 น้ำ
กุ้ง 3 น้ำพัทลุง คือ กุ้งก้ามกรามท้องถิ่น วัตถุดิบอาหารชั้นเลิศของพัทลุง ชาวบ้านในพื้นที่จะเรียกว่า “กุ้ง 3 น้ำ” เพราะเป็นกุ้งก้ามกรามที่สามารถเจริญเติบโตได้ในน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด นับเป็นพันธุ์กุ้งก้ามกรามที่มีรสชาติอร่อยมากที่สุดในทวีปเอเชีย ถึงขนาดรัฐบาลได้นำกุ้ง 3 น้ำ ไปทำเป็นเมนูอาหารเสิร์ฟขึ้นโต๊ะจัดเลี้ยงแก่ผู้นำประเทศ ในการประชุมสุดยอดอาเซียนซัมมิต ครั้งที่ 35 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อช่วงวันที่ 31 ตุลาคม-4 พฤศจิกายน 2562 มาแล้ว
แหล่งจับกุ้งหลักๆ มาจากทะเลสาบลำปํา (ทะเลสาบสงขลาตอนใน) ในพื้นที่ อ.ควนขนุน อ.เมืองพัทลุง อ.เขาชัยสน อ.บางแก้ว และ อ.ปากพะยูน ด้วยความโดดเด่นที่มีเนื้อแน่น รสชาติหวาน อร่อยแตกต่างจากกุ้งที่อื่น อีกทั้งส่วนหัวที่มีมันกุ้ง ที่จะมีความมันเป็นพิเศษ จนเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ราคากุ้งดังกล่าวมีการซื้อขายกันในราคาตั้งแต่ 250-500 บาท/กิโลกรัม
นายภัคเอื้ออิชณน์ สอนสังข์ นายก อบต.เกาะหมาก อธิบายว่า โครงการนี้ทำมาเพื่อเพิ่มปริมาณพันธุ์กุ้งก้ามกรามในทะเลสาบให้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ โดยธนาคารกุ้งก้ามกรามทำหน้าที่รับซื้อแม่กุ้งที่มีไข่ จากชาวประมงมาเพาะเลี้ยง อนุบาล ก่อนจะปล่อยลงสู่ทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นการประหยัดเงินในการซื้อพันธุ์กุ้งก้ามกรามจากเอกชน (ที่มีราคาแพง อีกทั้งยังมีอัตราการรอดไม่สูง แตกต่างจากการนำไข่จากแม่กุ้งก้ามกรามที่เติบโตในทะเลสาบลำปำ) เพื่อเพิ่มจำนวนกุ้งก้ามกรามในทะเลสาบ จุดมุ่งหมายของโครงการเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชาวประมง และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน
นายเอกสันต์ ละมูกสุข เจ้าหน้าที่ศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ อบต.เกาะหมาก กล่าวว่า ทางศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำฯ จะเป็นคนรับซื้อแม่กุ้งกามกราม ตัวที่มีไข่จากชาวประมงในพื้นที่ ที่ต้องการขายให้กับทางศูนย์เพาะพันธุ์ฯ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการเลี้ยงจนกว่าแม่กุ้งดังกล่าวสลัดไข่ออกมา และเจ้าหน้าที่จะทำการฟักอนุบาลตัวอ่อน จนครบเวลา 24 วัน ถึง 1 เดือน ก็สามารถนำไปปล่อยในแหล่งน้ำ หรือทะเลสาบให้เจริญเติบโต ที่ชาวประมงพื้นที่บ้านสามารถจับขายสร้างรายได้ และที่ศูนย์ดังกล่าวสามารถเพาะกุ้งก้ามกรามได้ครั้งละ 4 – 5 ล้านตัว
ต้องเริ่มต้นเพื่อความยั่งยืนในอนาคต
โครงการธนาคารกุ้งก้ามกราม อบต.เกาะหมาก นับเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนสำคัญของการอนุรักษ์และขยายพันธุ์กุ้งก้ามกรามทะเลสาบลำปำ ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำประมงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการไม่ดูแลสภาพแวดล้อมในทะเลสาบสงขลาในอดีตที่ผ่านมา ส่งผลให้จำนวนประชากรกุ้งลดลงอย่างน่าตกใจ จนกระทั่งมีการรณรงค์ ช่วยกันรักษาสภาพระบบนิเวศริมฝั่งทะเลสาบในจังหวัดพัทลุง จนเริ่มมีสภาพดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง พืชน้ำหลากหลายชนิดที่เป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อน แพร่ขยายพันธุ์เจริญเติบโต จากการร่วมมือกันฟื้นฟูและไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติของชาวบ้านริมฝั่งทะเล จนกลายเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ ที่อาศัยในท้องทะเลนานาชนิด ทำให้กุ้ง 3 น้ำกลับมามีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกครั้ง สร้างรายได้ให้กับคนขับกุ้งในพื้นที่
ทั้งนี้ ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนทั้งทางจังหวัดและองค์กรท้องถิ่น และที่สำคัญที่สุดคือชาวบ้าน ที่ร่วมมือร่วมใจในการดูแล และอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กุ้ง ไม่จับกุ้งมีไข่ และไม่จับกุ้งเล็กที่ยังไม่โตเต็มที่ อันจะทำให้กุ้งสามน้ำกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจของจังหวัด และสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านอย่างยั่งยืนตราบนานเท่านาน…
เรื่องและภาพโดยทีมข่าวภูมิภาค ไทยรัฐออนไลน์
Finally, we propose an experimental setup capable of measuring the required information in real time in an in vivo environment and demonstrate proof of concept level experimental results what is priligy tablets