ตรวจรายชื่อผู้รับบัตรคนจน 1 มี.ค. ผ่าน 14.5 ล้านคน ใครคาใจให้ยื่นอุทธรณ์ได้ใน 60 วัน

ตรวจรายชื่อผู้รับบัตรคนจน 1 มี.ค. ผ่าน 14.5 ล้านคน ใครคาใจให้ยื่นอุทธรณ์ได้ใน 60 วัน

“สันติ” เผยเคาะแล้วผู้มีคุณสมบัติครบรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านคน เตรียมประกาศรายชื่อ 1 มี.ค.นี้ ชี้ต้องยืนยันตัวตนภายใน 30 วัน เริ่มใช้ได้ 1 เม.ย.66 ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 60 วัน หากผ่านรับสิทธิย้อนหลังได้

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมเมื่อวันที่ 23 ก.พ.2566 ได้มีมติให้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติรับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน จำนวน 14.50 ล้านคน ในวันที่ 1 มี.ค.2566 นี้ และให้ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติยืนยันตัวตนภายใน 30 วัน เพื่อเริ่มรับและใช้สิทธิตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2566 เป็นต้นไป

ส่วนผู้ที่ไม่มีชื่อ เพราะไม่ผ่านคุณสมบัติ สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ที่ธนาคารกรุงไทย ภายใน 60 วัน หลังจากการประกาศรายชื่อ และคาดว่าผลการอุทธรณ์จะทราบได้ในช่วงเดือน พ.ค.2566 เป็นต้นไป ถ้าหากผู้ที่ยื่นอุทธรณ์ผ่านแล้วได้รับสิทธิบัตรคนจน กระทรวงการคลังจะให้สิทธิย้อนหลังเริ่มเดือน เม.ย.2566

“การยื่นอุทธรณ์ ให้เป็นหน้าที่ของธนาคารกรุงไทย เนื่องจากธนาคารกรุงไทยไม่ได้ให้ราย ละเอียดของผู้ที่ไม่ผ่านสิทธิกับกระทรวงการคลัง เนื่องจากกลัวจะผิดพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือพีดีพีเอ จึงให้ธนาคารกรุงไทย ทำหน้าที่รับอุทธรณ์และชี้แจงเหตุผลกับประชาชนที่ไม่ผ่านคุณสมบัติ”

นายสันติกล่าวต่อว่า ได้มีการรายงานให้ที่ประชุมรับทราบว่า จากจำนวนผู้ลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิบัตรคนจนทั้งหมด 22 ล้านคน ผลปรากฏว่า มีประชาชนกรอกข้อมูลไม่ครบ 1.2 ล้านคน เมื่อส่งตรวจข้อมูลกับกรมการปกครอง ไม่ผ่านคุณสมบัติ 1 ล้านคน ทำให้รอบแรกมีผู้ผ่านคุณสมบัติรวม 19 ล้านคน ต่อมาได้ส่งไปตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานราชการ 6 หน่วยงาน อาทิ กรมที่ดิน บัญชีเงินฝาก การถือครองบัตรเครดิต เป็นต้น ผลปรากฏว่าไม่ผ่านคุณสมบัติอีก 5 ล้านคน ทำให้เหลือผู้ผ่านคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์รวม 14.50 ล้านคน

สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ดังนี้ 1.มีสัญชาติไทย 2.อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป 3.ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช ผู้ต้องขัง ผู้ถูกกักกัน ผู้ต้องกักขัง บุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของหน่วยงานของรัฐ ข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ ผู้รับบำเหน็จรายเดือน ผู้รับบำนาญปกติ หรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ ข้าราชการการเมือง ส.ส. และส.ว. 4.รายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี และหากมีครอบครัว รายได้เฉลี่ยของครอบครัว ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี
5.ทรัพย์สินทางการเงิน ได้แก่ เงินฝาก สลาก พันธบัตร และตราสารหนี้ภาครัฐ ของผู้ลงทะเบียนต้องมีมูลค่าไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน และหากมีครอบครัว ทรัพย์สินทางการเงินเฉลี่ยของครอบครัว มีมูลค่าไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน 6.ต้องไม่มีบัตรเครดิต 7.ต้องไม่มีวงเงินกู้ เกินเกณฑ์กำหนด ได้แก่ วงเงินกู้สำหรับที่อยู่อาศัยรวมไม่เกิน 1.5 ล้านบาท หรือวงเงินกู้สำหรับยานพาหนะรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท

ส่วนเกณฑ์การถือครองอสังหาริมทรัพย์ ต้องไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้ กรณีผู้ลงทะเบียนไม่มีครอบครัว กรณีอยู่อาศัยอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถว ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา หรือห้องชุดต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร ส่วนกรณีเป็นที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรจะต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่ ขณะที่กรณีที่ดินแยกจากที่อยู่อาศัย ที่เป็นที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ หรือใช้กรณีอื่นต้องไม่เกิน 1 ไร่ ส่วนกรณีมีครอบครัวกรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรส แต่ละคนต้องไม่เกิน 25 ตารางวา ห้องชุดของแต่ละคนต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร ขณะที่กรณีเป็นที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่ หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรจะต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 2 ไร่ ส่วนที่ดินแยกจากที่อยู่อาศัย ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่ หรือกรณีใช้ประโยชน์ด้านอื่นต้องไม่เกิน 2 ไร่.

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,260 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *