‘จตุพร’​ ชำแหละ ‘เศรษฐา’​ สปีซแอบซ่อน!

‘จตุพร’​ ชำแหละ ‘เศรษฐา’​ สปีซแอบซ่อน!

19 มี.ค. 2566 -​ นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน “ประชาชนอยู่ตรงไหน?” โดยถามนายเศรษฐา ทวีสิน ว่าที่แคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทยว่า คนไทยยากจน ทั้งชีวิตได้แต่เสาะแสวงหาความสุขและการอยู่รอด ดังนั้น ประชาชนผู้ทุกข์ยาก มากความเดือดร้อนอยู่ตรงไหนในหัวใจว่าที่ผู้นำที่จะมาเป็นผู้ปกครองมือใหม่ ผู้ยังไม่ปรากฎความเสียสละแก่สังคม แต่ทั้งชีวิตความสำเร็จอยู่กับความร่ำรวย อาจไม่เคยเห็นคุณค่าการเสาะแสวงหาใดๆ เลย เพราะไม่เคยเสาะหา อยากได้สิ่งใดก็มีคนเอามาให้ แล้วจะเข้าใจประชาชนยากจนที่อยู่ปกครองได้อย่างไร

นายจตุพร ยกคำพูดตอนหนึ่งของนายเศรษฐา ทวีสิน ว่าที่แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ที่ระบุบนเวทีจัดงาน“คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน” เพื่อเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ทั้ง 400 เขต มาวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของผู้ปกครองมือใหม่ถอดด้ามที่อาสามาเป็นผู้นำของประเทศไทยที่มากด้วยคนยากไร้ เดือดร้อนทุกข์

พร้อมระบุคำพูดของนายเศรษฐา ว่า คนมีอภิสิทธิ์ ใหญ่คับฟ้าทำผิดไม่ผิด เห็นผู้นำไร้หัวใจไล่ประชาชนที่มีศักยภาพให้ออกจากแผ่นดินที่เขาเกิด เพียงแค่คนเหล่านี้ไม่อยู่ใต้โอวาท ประชาชนที่ได้ผลกระทบทุกคนต่างฝากความหวังไว้ในการเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนประเทศ เขาอยากเลือกพรรคการเมืองที่จะสร้างโอกาสให้ชีวิตเขาดีขึ้น

นายจตุพร เริ่มกล่าวด้วยการยกคำพูดท่อนหนึ่งที่ระบุถึง “ผู้นำไร้หัวใจ” มาวิพากษ์วิจารณ์ ว่า ผู้นำโลกและผู้นำไทยที่ผ่านมา ล้วนไม่เคยมีหัวใจ พร้อมถามนายเศรษฐา เมื่อช่วงเป็นซีอีโอ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ สร้างบ้านขายกลุ่มคนรวยมาทั้งชีวิต “คุณมีหัวใจหรือไม่ และเคยเห็นผู้ปกครองไทย ใครบ้าง เคยมีหัวใจ” อย่างไรก็ตาม หัวใจคนจะเกิดก่อนที่มาเป็นผู้นำ หรือระหว่างวางแผนที่จะเข้าไปเป็นผู้นำ จากนั้นเมื่อมาเป็นผู้นำแล้ว หัวใจจะถูกเอาออกตามลำดับ จนอยู่ในสภาพคนไร้หัวใจ

อีกทั้งกล่าวว่า ในระหว่างช่วงชิงอำนาจ หัวใจจะเริ่มดำสนิท แต่เมื่อมีอำนาจหัวใจจะไม่มี แล้วกลายเป็นมนุษย์พิเศษที่ไม่มีหัวใจในการทำงาน เพราะตลอดเวลาถ้าผู้นำมีหัวใจ ประเทศจะไม่อยู่ในสภาพแบบนี้ การตัดสินใจระหว่างผลประโยชน์ชาติกับประโยชน์ตัวเอง ถ้าผู้นำมีหัวใจทำไม่ได้ มือล้างได้ แต่ใจยากที่จะล้างออก ดังนั้น ที่บอกว่า ผู้นำไร้หัวใจ หวังว่านายเศรษฐา จะรักษาหัวใจเอาไว้ได้ จนถึงวันใฝ่ฝัน เพราะต้องการเป็นนายกฯ ตำแหน่งเดียว

ส่วนนายเศรษฐา กล่าวถึงผู้นำไร้หัวใจไล่คนไทยออกนอกประเทศนั้น นายจตุพร เห็นว่า ขึ้นอยู่กับการเข้าใจ อย่างไรก็ตาม ต้องรู้ให้ตรงกันก่อนว่า ไม่มีใครสามารถไล่คนไทยออกนอกประเทศได้ ขณะเดียวกันก็ไม่มีคนไทยคนใดที่จะห้ามคนไทย ไม่ให้กลับเข้าแผ่นดินไทยได้เช่นกัน อีกทั้งไม่มีกฎหมายห้ามคนไทยเข้าประเทศด้วย ดังนั้น การออกนอกประเทศคงเป็นเพราะเขาไม่ให้อยู่ หรือไม่อยู่เอง

อย่างไรก็ตาม ในอดีต ช่วงเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ตัดสินใจออกนอกประเทศเอง โดยประชาชนขับไล่ แค่ต้องการให้ออกจากตำแหน่งเท่านั้น รวมทั้งนายปรีดี พนมยงค์ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ล้วนแต่เป็นการตัดสินใจออกนอกประเทศเองทั้งสิ้น แต่การไม่กลับมาแผ่นดินไทยนั้น ไม่มีใครห้ามปรามได้เลย

นายจตุพร กล่าวว่า เจตนาของนายเศรษฐา ที่พูดถึงการไล่คนออกนอกประเทศนั้น คงต้องการสื่อให้คนในห้องประชุมนึกถึงหน้าทักษิณ ชินวัตร หรือยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พี่น้อง อย่างไรก็ตาม ควรต้องยึดหลักสำคัญว่า คนไทยไม่มีสิทธิ์ไล่ใครออกนอกประเทศ แม้จะมีการพูดจริง แต่ไม่มีอำนาจ ดังนั้น การไม่อยู่ในประเทศจึงเป็นเรื่องของแต่ละคนจะตัดสินใจ และถึงที่สุดแล้ว เมื่อนายเศรษฐาอาจได้เป็นนายกฯ ต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า แผ่นดินนี้ไม่มีใครบังคับให้คนไทยออกนอกประเทศได้ นอกจากจะออกไปเอง

“เมื่อคนไทยมีศักยภาพที่นายเศรษฐา บอกว่า เขาไม่อยู่ใต้โอวาท จึงถามว่า ใต้โอวาทของผู้นำคนไหน ที่ไม่ฟัง จึงต้องออกกันไป ซึ่งคำนี้เป็นคำละเอียดอ่อน ใช้ปลุกใจได้ ถ้าไม่เข้าใจบริบทแล้ว จะนำไปสู่ความขัดแย้งมากมาย”

รวมทั้ง เสนอว่า วันนี้ ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ กลับบ้านในไทยได้ตลอดเวลา และไม่มีใครขับไล่ออกนอกประเทศ ตลอดจนไม่มีใครห้ามทักษิณกลับไทยด้วย ดังนั้น คำพูดของนายเศรษฐา จึงเป็นการสร้างจินตนาการที่ใหญ่โตมาก

“คุณเศรษฐาต้องช่วยอธิบายความว่า มีคนไทยคนไหนถูกบังคับให้ออกนอกประเทศ และไม่ให้เข้า ประเทศ เพราะบางทีอาจมีเหตุผลว่า บางคนไม่ยอมรับการปกครอง หรือบางคนไม่ต้องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ถึงที่สุดตัวเองไม่ได้ถูกบังคับให้ออกนอกประเทศ ถ้าใครก็ตามยืนหยัดแนวคิดของตัวเอง ก็อยู่ในประเทศได้ แม้จะถูกติดคุกก็ตาม”

นายจตุพร กล่าวว่า การปลุกของนายเศรษฐาในเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ แต่ถ้าวันไหนนายเศรษฐามาเป็นผู้ปกครองต้องยอมรับก่อนว่า ไม่มีใครมีอำนาจบังคับไล่คนให้ออกนอกประเทศได้ แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องความกลัวในเรื่องอิสรภาพหรือต้องติดคุก ซึ่งสิ่งนี้เป็นความจริงที่ต้องยอมรับกันก่อน

พร้อมทั้งเห็นว่า คนเป็นผู้นำ ถ้าน้อมรับกระบวนการยุติธรรม และการตัดสินของศาลตัดสิน หรือไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม ก็ต้องไม่ยอมรับมาตั้งแต่ต้น ซึ่งจะเป็นภูมิต้านทาน ประเภทที่ยอมรับครึ่งไม่ยอมรับครึ่งจึงมีสภาพอิหลักอิเหลื่อเหมือนทุกวันนี้

ที่มา:thaipost

ผู้นำเสนอข่าว

ยัยแม่มด

Written by:

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *