ชาวสวนครบุรี ปลูกสตรอว์เบอรี่พันธุ์พระราชทาน 80 เสริมในสวนทุเรียนในช่วงหน้าหนาว ชี้ ปลูกแล้วงอกงามดี ใบใหญ่หนา ลูกใหญ่ รสชาติดี เกษตรอำเภอแนะรวมกลุ่มตั้งโซนท่องเที่ยว สร้างรายได้เข้าชุมชน
เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 66 ที่ผ่านมา นายอุทัย หนูวุ่น เกษตรอำเภอครบุรี ลงพื้นที่เยี่ยมชมสวนของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่ตำบลลำเพียก อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ซึ่งส่วนหนึ่งให้พื้นที่ระหว่างต้นทุเรียน เพาะปลูกพืชชนิดอื่นเสริม เพื่อสร้างรายได้ระหว่างที่รอทุเรียนให้ผลผลิต เช่นที่สวนของนางรุ่งทิพย์ พรสูงเนิน อายุ 55 ปี เกษตรกรบ้านไร่แหลมทอง ซึ่งปลูกทุเรียนไว้จำนวน 15 ไร่ ตอนนี้ยังไม่ให้ผลผลิต จึงได้อาศัยพื้นที่ว่างของสวนเพาะปลูกพืชชนิดอื่นๆ ทดแทน
ในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูหนาวจึงได้ทดลองนำสตรอว์เบอรี่พันธุ์พระราชทาน 80 เข้ามาปลูก ซึ่งปรากฏว่าได้ผลดีอย่างมาก สตรอว์เบอรี่มีใบใหญ่หนา ลูกใหญ่ รสชาติดี อีกทั้งการดูแลก็ไม่ยุ่งยาก อาศัยเพียงรดน้ำและดูแลเรื่องวัชพืชเท่านั้น ซึ่งสวนทุเรียนแห่งนี้ไม่ใช่สวนแรกที่ทดลองปลูกสตรอว์เบอรี่เสริมในแปลงทุเรียน แต่ยังมีเกษตรกรอีกหลายรายที่หันมาปลูกสตรอว์เบอรี่แบบนี้เช่นเดียวกัน
โดยผู้ที่ริเริ่มการปลูกสตรอว์เบอรี่แซมในสวนทุเรียนที่ตำบลลำเพียก คือ นางสุพรรษา พุฒพันธ์ อายุ 47 ปี ซึ่งเป็นผู้นำพันธุ์มาให้นางรุ่งทิพย์ทดลองปลูก เล่าให้ฟังว่า ได้ซื้อพันธุ์สตรอว์เบอรี่มาจากอำเภอวังน้ำเขียว เพื่อมาปลูกไว้ดูเล่น ปรากฏว่าเติบโตดี และเกิดมีไหลทุเรียนงอกออกมาจำนวนมา จึงนำมาทดลองขยายพันธุ์เล่นๆ ซึ่งก็เติบโตได้ดี จากนั้นเลยนำมาปลูกเอาไว้ในสวนทุเรียน ปรากฏว่ายิ่งงอกงามแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็ว จึงตัดสินใจปลูกเป็นแปลงใหญ่ระหว่างสวนทุเรียน เพื่อเก็บลูกขายก็ได้ผลดี มีลูกค้ามาถามซื้อถึงสวนจนขายไม่ทัน
ส่วนหนึ่งก็ทำแปลงเพาะไหล เพื่อนำมาขยายพันธุ์ลงกระถางส่งขายให้กับลูกค้า เมื่อลูกค้ามาซื้อและมาเห็นแปลงก็นำกลับไปทดลองทำตาม และได้ผลดี จึงเริ่มมีหลายคนทำตามอย่างที่เห็น ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องดีที่เพื่อนเกษตรกรจะได้มีช่องทางหารายได้เสริมเพิ่มขึ้น โดยในปีที่ผ่านมาตัวเองสามารถขายพันธุ์และลูกสตรอว์เบอรี่ในช่วงหน้าหนาวกว่า 30,000 บาท
ทั้งนี้ ทางเกษตรอำเภอครบุรีได้แนะนำให้เกษตรกรผู้ปลูกสตรอว์เบอรี่ มารวมกลุ่มกันเพื่อที่จะให้สตรอว์เบอรี่ในสวนทุเรียน กลายเป็นจุดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชม พร้อมแปรรูปผลผลิต เพื่อเพิ่มช่องการจำหน่ายสินค้าและผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ที่มีความหลากหลายอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต.
ที่มา:ไทยรัฐ