สวนทุเรียนตราดเจอภัยแล้งรุมเร้า ฝนทิ้งช่วง 5 เดือน เร่งเจาะบาดาลยื้อก่อน

สวนทุเรียนตราดเจอภัยแล้งรุมเร้า ฝนทิ้งช่วง 5 เดือน เร่งเจาะบาดาลยื้อก่อน

สวนทุเรียนเมืองตราดส่อวิกฤติ น้ำในสระใกล้หมด หลังปีนี้ฝนทิ้งช่วงนานกว่า 5 เดือน ทำให้ชาวสวนรีบเจาะบาดาล หาน้ำรดต้นทุเรียน ด้าน อบต.ห้วงน้ำขาว เร่งสูบน้ำแจกจ่ายน้ำให้ชาวสวนบรรเทาเดือดร้อน

เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจความแห้งแล้งในพื้นที่ ต.ห้วงน้ำขาว อ.เมือง จ.ตราด ภายหลังฝนทิ้งช่วงนานกว่า 5 เดือน ส่งผลให้สระน้ำหมู่บ้านและบ่อน้ำของเกษตรระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว เหลือใช้ได้ไม่ถึง 1 เดือน หากไม่มีฝนตกลงมาจะทำให้พืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะทุเรียนที่กำลังจะตัดขายได้ในปลายเดือนนี้ได้รับความเสียหายอย่างแน่นอน

โดยที่บ้านคันนา ต.ห้วงน้ำขาว อ.เมือง จ.ตราด เกษตรกรชาวสวนทุเรียนหลายรายลงทุนจ้างรถขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อหาแหล่งมาใช้บรรเทาความเดือนร้อนในเบื้องต้น เพราะน้ำในสระของแต่ละสวนนั้น มีปริมาณเหลือน้อย บางสวนน้ำแห้งแทบจะสูบนำขึ้นมารดสวนทุเรียนไม่ได้แล้ว ขณะที่บางสวนไม่มีตาน้ำบาดาล ต้องซื้อน้ำจากเอกชนมาแทน เพื่อไม่ให้ลูกทุเรียนเสียหายจากการขาดน้ำ

นางวารี แจ้งแสง อายุ 72 ปี เกษตรกรสวนทุเรียน ม.4 ตำบลห้วงน้ำขาว กล่าวว่า ในปีนี้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ค่อนข้างรุนแรง เพราะฝนทิ้งช่วงไปนาน ทำให้น้ำในสระของตนและสระของหมู่บ้านเหลือน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลให้สวนทุเรียนเสี่ยงต่อการขาดน้ำ และหนทางเดียวที่จะช่วยไม่ให้ลูกทุเรียนได้รับผลกระทบจากการขาดน้ำ คือ การเจาะบ่อน้ำบาดาล ซึ่งตนเองต้องลงทุนจ่ายเงินกว่าแสนบาท เพื่อให้ได้น้ำบาดาลมาใช้ และโชคดีที่เจาะน้ำบาดาลเจอตาน้ำพอดี ทำให้ช่วยแบ่งเบาปัญหาเรื่องน้ำไประดับหนึ่ง อยากขอร้องให้ภาครัฐช่วยทำฝนหลวงโดยเร็ว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรหลายคนที่กำลังจะไม่มีนำใช้สำหรับสวนผลไม้

ด้าน นายณัฏฐวงศ์ ชาวเวียง อายุ 55 ปี เกษตรกรสวนทุเรียน ม.5 ต.ห้วงน้ำขาว อ.เมือง จ.ตราด บ้านคันนา กล่าวว่า ตอนนี้ปัญหาภัยแล้งชาวสวนหลายสวนเริ่มได้รับผลกระทบแล้ว ชาวสวนต้องดิ้นรนกันเอง ทุกสวนต้องหาทางทำยังไงก็ได้ให้มีน้ำมารดสวนทุเรียน เพราะสวนทุเรียน 1 ปี มีผลผลิตครั้งเดียว ชาวสวนทำการบำรุงต้น บำรุงลูก มาตลอดทั้งปี แต่สุดท้ายน้ำไม่เพียงพอ ปีนี้ผลผลิตค่อนข้างเยอะ บางสวนต้องลงทุนขุดบ่อใหม่เพื่อให้เพียงพอ ขณะที่สวนตนเองปีนี้จ้างขุดเจาะน้ำบาดาลไปแล้ว 7 บ่อ ค่าขุดเจาะครั้งละ 190,000 บาท เป็นเงินกว่าล้านบาทแล้ว เพื่อนำน้ำบาดาลมาใช้รดสวนทุเรียน แต่ถ้ามีฝนเทียมมาช่วยพี่น้องชาวสวนทุเรียนได้ก็จะดีมากขึ้น เพราะตอนนี้ทุกบ้านทุกสวนระดับน้ำในสระแห้งเข้าใกล้วิกฤติแล้ว

ขณะที่ นายถาวร ถวิลวงษ์ นายก อบต.ห้วงน้ำขาว นายบุญยิ่ง สิงห์พันธ์ รองนายก อบต.ห้วงน้ำขาว พร้อมเจ้าหน้าที่ชลประทานตราด ได้นำรถน้ำ อบต.ห้วงน้ำขาว และรถน้ำชลประทานตราด มาดูน้ำจากสระกลาง ต.ห้วงน้ำขาว ที่มีความลึก 11 เมตร ซึ่งปัจจุบันระดับน้ำแห้งลงมีน้ำเหลือเพียง 3 เมตรเท่านั้น น้ำในสระน้ำแห่งนี้จะถูกส่งไปให้กับสวนทุเรียนที่กำลังขาดน้ำใน 5 หมู่บ้าน ของ ต.ห้วงน้ำขาว โดยเฉพาะชาวบ้านในหมู่ 3 บ้านอ่าวกรูด และหมู่ 4 บ้านห้วงน้ำขาว เนื่องจากทั้ง 2 หมู่บ้าน ขาดน้ำเพื่อการเกษตรหนักกว่า หมู่ 1 หมู่ 2 และหมู่ 5

ปัจจุบันสระกลาง ต.ห้วงน้ำขาว จะมีรถน้ำของเอกชน รถน้ำ อบต.ห้วงน้ำขาว และรถน้ำชลประทานตราด มาบรรทุกน้ำเฉลี่ยวันละ 120 เที่ยวต่อวัน หรือ 700,000-800,000 ลิตรต่อวัน เพื่อนำไปส่งให้กับพี่น้องเกษตรในพื้นที่ 5 หมู่บ้าน ของ ต.ห้วงน้ำขาว โดยสระกลาง ต.ห้วงน้ำขาว แห่งนี้ ทาง อบต.ห้วงน้ำขาว จะทำการดูดผันน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำหนองโบสถ์ ต.หนองคันทรง ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร วันละ 12-18 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มน้ำลงสระกลาง ต.ห้วงน้ำขาว นอกจากนี้ยังดูดน้ำจากน้ำบาดาลอีกด้วย

ส่วน นายถาวร กล่าวว่า สาเหตุของปัญหาภัยแล้งของ ต.ห้วงน้ำขาว นั้น สาเหตุหลักมาจากภาวะโลกร้อน อีกส่วนหนึ่งมาจากที่เกษตรกร หันมาปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้น เพราะช่วงฤดูผลผลิตออกสู่ท้องตลาด ทุเรียนจะต้องการน้ำเยอะที่สุด ทำให้น้ำไม่เพียงพอ เพราะบางสวนไม่มีแหล่งน้ำที่เพียงพอ โดยทาง อบต.ห้วงน้ำขาว ร่วมกับรถน้ำชลประทาน และรถน้ำเอกชน ได้เข้ามาช่วยเหลือเร่งนำน้ำไปให้พี่น้องเกษตรกร ซึ่งตอนนี้สวนไหนขาดน้ำ 1-2 วัน ก็ส่งผลต่อทุเรียนทันที จะทำให้ทุเรียนไม่ได้คุณภาพ เมื่อไม่ได้คุณภาพพ่อค้าคนกลางจะกดราคาทันที แม้ว่าจะเร่งนำน้ำแจกจ่ายให้กับเกษตรกรแล้ว

นายก อบต.ห้วงน้ำขาว กล่าวอีกว่า แต่ก็ไม่ทันต่อความต้องการของเกษตรกร และอยากขอร้องให้ทางจังหวัดเห็นความสำคัญในการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาระยะยาว อยากให้ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขาระกำ ในตัวเมืองมายังพื้นที่ ต.ห้วงน้ำขาว ให้ได้ เพราะ ต.ห้วงน้ำขาว และ ต.อ่าวใหญ่ ที่มีพื้นที่ติดกัน สามารถสร้างรายได้จากทุเรียนในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 3,000-4,000 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ นายประสิทธิ์ ถวิลวงษ์ เกษตรกรสวนทุเรียน ม.3 ต.ห้วงน้ำขาว อ.เมือง จ.ตราด กล่าวว่า ในปีนี้เป็นภัยแล้งที่รุนแรงและรวดเร็วที่สุดในรอบ 7 ปี เพราะน้ำในสระไม่พอใช้ น้ำบาดาลก็ไหลไม่มาก ทำให้ลูกทุเรียนไม่ค่อยโตเท่าที่ควร โดยเพราะช่วงนี้ทุเรียนต้องการน้ำเยอะ ยิ่งรดน้ำไม่ถึงจะทำให้ลูกทุเรียนไม่เบ่งพู ซึ่งปกติลูกทุเรียนจะมี 3-4 พู แต่เมื่อขาดน้ำทุเรียนพูจะลีบเล็กจะเหลือแค่ 2 พู ทำให้ทุเรียนตกไซส์ ราคาจะเหลือเพียง 60-70 บาทเท่านั้น จากปกติจะเหมาตัดประมาณ 200 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ในปีนี้ชาวสวนจะได้ผลตอบแทนน้อยลงหรืออาจะขาดทุนด้วยซ้ำ ตนเองอยากจะให้จังหวัดช่วยผันน้ำเข้ามายังตำบลห้วงน้ำขาวอย่างเร่งด่วน ซึ่งตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะแล้งขนาดนี้ เพราะฝนไม่ตกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา.

ผู้นำเสนอข่าว

Lemon

Written by:

720 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Have Missed