กรมชลประทาน จับมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสกลนคร ระดมเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าดำเนินการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำในหนองหาร ตามข้อสั่งการของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) หวังเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำและควบคุมคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ดีเสมอ
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา กรมชลประทาน โดยสำนักเครื่องจักรกล และโครงการชลประทานสกลนคร ได้นำรถแบคโฮลงโป๊ะ จำนวน 15 ชุด บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมประมง หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 26 สำนักงานพัฒนาภาค 2 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย(นพค.26)เข้าไปกำจัดผักตบชวาและวัชพืชในหนองหารอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง รวมทั้งยังช่วยป้องกันผลกระทบจากน้ำเน่าเสีย และรักษาคุณภาพน้ำสำหรับใช้ในการผลิตน้ำประปาในพื้นที่ให้ดีอยู่เสมอ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์แหล่งท่องเที่ยวหนองหารอีกด้วย โดยมีแผนกำจัดผักตบชวาและวัชพืชในหนองหาร ในระยที่ 1(ดำเนินการระหว่างวันที่ 1 ธ.ค. 65 – 31 ม.ค. 66) ครอบคลุมพื้นที่ ต.ดอนเสาธง ต.นาดอกไม้ ต.ดอนตาลโง๊ะ และ ต.ดอนเชียงคูณ พื้นที่ประมาณ 2,615 ไร่ ปัจจุบันกรมชลประทานได้กำจัดผักตบชวาและวัชพืชในระยะเร่งด่วนไปแล้วประมาณ 1,085 ไร่ จากแผนดำเนินการที่วางไว้ 1,350 ไร่ ส่วนที่เหลือจะเร่งกำจัดให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคมนี้
สำหรับวัชพืชในพื้นที่หนองหาร จากการสำรวจพบว่ามีปริมาณวัชพืชรวมประมาณ 3,924,931 ตัน มีการวางแผนกำจัดวัชพืชเป็น 2 ระยะ โดยแผนในระยะที่ 1 (ระยะเร่งด่วน) ทุกภาคส่วนได้บูรณาการร่วมกันเพื่อดำเนินการให้แล้วเสร็จตามเป้าภายใน 2 เดือน(ระหว่างวันที่ 1 ธ.ค. 65 – 31 ม.ค. 66) คาดว่าจะสามารถกำจัดวัชพืชได้รวม 503,134 ตัน และหลังจากนั้นจะดำเนินการในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป
ด้านกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 21 มกราคม 2566 ดังนี้
1.ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66 กรมเจ้าท่า ดำเนินการขุดลอก บริเวณแม่น้ำตุ๋ย ตำบลบ้านขอ อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปางเพื่อเพิ่มพื้นที่หน้าตัดของร่องน้ำ รองรับน้ำหลาก เก็บน้ำไว้ใช้สำหรับฤดูแล้งเพื่อใช้สำหรับการเกษตรและการอุปโภค บริโภค ลดการกัดเซาะตลิ่ง รวมถึงซ่อมแซมฝายผันน้ำเข้าพื้นที่เกษตรกรรม
2.สภาพอากาศ บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ลมตะวันตกในระดับบนเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้าโดยอุณหภูมิจะลดลงอีก 1-2 องศาเซลเซียสในภาคเหนือ ส่วนมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
3.แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 39,244 ล้าน ลบ.ม. (68%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 31,702 ล้าน ลบ.ม. (66%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,394 ล้าน ลบ.ม. (87%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,148 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ)
ปริมาณน้ำใช้การ 12,246 ล้าน ลบ.ม. (67%)
4.ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 31,344 ล้าน ลบ.ม. (66%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 6,715 ล้าน ลบ.ม. (31%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 2,673 ล้าน ลบ.ม. (31%)
5.การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ติดตามการพัฒนาทรัพยากรน้ำในพื้นที่ จ.พิษณุโลก และ จ.นครสวรรค์ พร้อมทั้งเน้นย้ำให้หน่วยงานต่าง ๆ กำกับ ติดตามการจัดสรรน้ำให้เป็นตามแผน พร้อมประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำตามที่ กอนช.ได้มีการคาดการณ์ล่วงหน้าเพื่อเร่งหาแนวทางป้องกัน และแก้ไขทันที พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่อง ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะภัยแล้งในพื้นที่ โดยเฉพาะลุ่มน้ำยมที่รัฐบาลได้เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซากให้เกิดความยั่งยืน
ที่มา:agrinewsthai