โลกออนไลน์แชร์งานวิจัยอัตลักษณ์ของ “ทรงซ้อ” ในสังคมไทย ของ ม.เกษตรศาสตร์ รับรางวัลโปสเตอร์ยอดเยี่ยม ปากมาสด้า ตาหอยแครง ใส่ทองต้องตีโป่ง
วันที่ 12 มีนาคม 2566 มีรายงานว่า โลกออนไลน์ได้แชร์โพสต์จากแฟนเพจ ฝ่ายกิจการนิสิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้ประกาศรางวัลการประกวดแข่งขันผลงานวิชาการและงานวิจัยระดับปริญญาตรี คณะสังคมศาสตร์ ประจำปี 2566 (จากคะแนนโหวตและคะแนนจากคณะกรรมการตัดสินผลงาน)
โดยรางวัลประเภทโปสเตอร์ยอดเยี่ยม รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ชื่อผลงาน การประกอบสร้างอัตลักษณ์ของ ทรงซ้อ ในสังคมไทย เจ้าของผลงาน จินดาภัทร อินทร์เจริญ สาขามานุษยวิทยา อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.อังกูร หงษ์คณานุเคราะห์ ซึ่งพบว่ามีคนให้ความสนใจจำนวนมาก มียอดการแชร์ออกไปนับหมื่นครั้ง
ซึ่งผลการศึกษาของงานวิจัย ระบุไว้ว่า อัตลักษณ์ของ “ทรงซ้อ” เป็นผลของการประกอบสร้างจากโครงสร้างสังคมและสภาพทางเศรษฐกิจ อันมีอิทธิพลต่อกลุ่มตัวอย่างในการขัดเกลาอัตลักษณ์และตัวตนของปัจเจกบุคคลและกลุ่ม ซึ่งทรงซ้อคือ กลุ่มผู้หญิงที่เน้นสถานะของตน ผ่านการใส่ทองเป็นหลัก มีรูปแบบรสนิยมเฉพาะ อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคมได้
รสนิยมความชอบของคนทรงซ้อ ปรากฏผ่านการบริโภค รวมถึงกิจกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตของพวกเธอ ซึ่งสัมพันธ์กับสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ตามแนวคิดของ บูร์ดิเยอ ที่ว่า สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นส่วนสําคัญในการกําหนดรสนิยม
มุมมองและความเข้าใจของคําว่าทรงซ้อในสังคม เป็นไปตามประสบการณ์และช่องทางในการรับรู้ โดยกลุ่มคนที่ได้รับรู้ผ่านการผลิตซ้ำของสื่อ ส่งผลให้เกิดการสร้างภาพจํา และมีมุมมองต่อคนทรงซ้อในเชิงลบ ซึ่งนําไปสู่การประทับตราจากสังคม ในขณะที่กลุ่มคนที่มีประสบการณ์การได้พูดคุย หรืออยู่ร่วมกับคนทรงซ้อโดยตรง จะมีมุมมองที่ว่า “รสนิยมความชอบนั้นเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล” และคนทรงซ้อก็มีมุมมองต่อตนเองในลักษณะนั้น.
(โพสต์ต้นฉบับ คลิก)
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/