ทางเลือกแก้เหงา “ผู้สูงอายุ” ปลุกพลังกล้าเที่ยว ผลักดันให้ผจญภัยในโลกใหม่

ทางเลือกแก้เหงา “ผู้สูงอายุ” ปลุกพลังกล้าเที่ยว ผลักดันให้ผจญภัยในโลกใหม่

-เปิดสาเหตุ “ผู้สูงอายุ” ไม่กล้าออกจากบ้านไปเที่ยว เพราะส่วนหนึ่งมาจากความหวาดกลัวต่ออุปสรรคจากภายนอก ปัญหาสุขภาพ และไม่รู้จักสถานที่ใหม่ๆ เลยทำให้ไม่อยากไปไหน
-“กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” จัดทำโครงการ “วันธรรมดากล้าเที่ยว” เชิญชวนผู้สูงวัยให้กล้าออกไปเที่ยว ชวนเปรี้ยวสร้างสีสันในวันธรรมดา
-สื่อโซเชียลมีเดียที่ “ผู้สูงอายุ” ใช้งานบ่อยที่สุด ได้แก่ Line, Facebook และ Youtube โดยกลุ่มเพื่อน, คนใกล้ชิด จะมีอิทธิพลมากต่อการท่องเที่ยว


เมื่อประเทศไทยกลายเป็น “สังคมสูงอายุ” อย่างสมบูรณ์ในปี 2565 โดย “ประชากรรุ่นเกิดล้าน” ที่เกิดระหว่างปี 2506-2526 กำลังจะกลายเป็นกลุ่มประชากรสูงอายุกลุ่มใหญ่มากในปี 2566 ซึ่งเมื่อปี 2564 ประเทศไทยมีประชากรรวม 66.7 ล้านคน แต่ประชากรสูงอายุของประเทศไทยได้เพิ่มเป็น 12.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากรทั้งหมด ทำให้เราต้องเตรียมรับมือกับปัญหา “สูงวัยปัญหาสุขภาพรุมเร้า” จากการขาดการออกกำลังกายในกิจวัตรประจำวัน สุขภาพจิตที่ถดถอย เนื่องจากภาวะร่างกายไม่แข็งแรง ซึ่งผู้สูงอายุที่มีความเครียดสูง เสี่ยงภาวะซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย และมีภาวะหมดไฟ (Burnout) รวมทั้งการรักษาระยะห่างทางสังคมที่ยาวนานจากโรคโควิด-19 ทำให้ปัญหาดังกล่าวทวีความสำคัญมากขึ้น

สำหรับสาเหตุที่ “ผู้สูงอายุ” ไม่กล้าออกจากบ้านไปไหน เพราะส่วนหนึ่งมาจากความหวาดกลัวต่ออุปสรรคจากภายนอก ปัญหาสุขภาพ และไม่รู้จักสถานที่ใหม่ๆ หรือไปได้ไม่ไกลกว่าละแวกบ้านของตัวเอง รวมทั้งยังห่วงปัญหาเรื่องการเงิน เพราะอยากเก็บเงินไว้ให้ลูกหลาน จนลืมห่วงความสุขของตัวเองไป

ทั้งนี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้จัดทำโครงการ “วันธรรมดากล้าเที่ยว” ตามแนวคิด “สุขภาพกายและจิตดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องสร้างเอง” โดยเนื้อหารายการจะเชิญชวนผู้สูงวัยให้กล้าออกไปเที่ยว ชวนเปรี้ยวสร้างสีสันในวันธรรมดา เสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง พร้อมผลักดันให้มีความกล้าผจญภัยในโลกใหม่ สร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้ผู้สูงวัย

ส่วนข้อดีของการ “เที่ยววันธรรมดา” คือ ราคาไม่แพง คนไม่เยอะ เดินทางสบายคล่องตัว วันธรรมดาลุงป้าว่าง ลูกหลานไปทำงาน อยู่บ้านเหงาๆ อาจทำให้เครียด การออกไปข้างนอก หาอะไรกิน หาอะไรทำ ได้เที่ยวอย่างปลอดโปร่ง ได้เดินออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรง เป็นการดูแลตัวเองได้สบายๆ ไม่สร้างภาระให้ลูกหลาน และเมื่อไปเที่ยวให้สบายใจ จะได้กลับมาดูแลครอบครัวด้วยใจเป็นสุข ไม่สร้างภาระทางอารมณ์ รวมทั้งได้เก็บวันเสาร์อาทิตย์ให้เป็นเวลาของครอบครัวด้วย

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เผยว่า เป็นที่ทราบกันดีเรื่องสังคมสูงวัย ที่กำลังเป็นเรื่องที่หลายประเทศต้องเตรียมการรับมือ โดยในปี 2564 ที่ผ่านมาประเทศสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ ได้กลายเป็นสังคม สูงอายุแล้ว โดยมีอัตราผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป แตะถึงร้อยละ 10 แล้ว ได้แก่

-สิงคโปร์ (ร้อยละ 22)
-ไทย (ร้อยละ 19)
-เวียดนาม (ร้อยละ 1)
-มาเลเซีย (ร้อยละ 11)
-อินโดนีเซีย (ร้อยละ 10)
-เมียนมา (ร้อยละ 10)

ทั้งนี้ จากการที่ได้สำรวจลงลึกใน “กลุ่มผู้สูงอายุ” แบ่งเป็น ผู้สูงอายุวัยต้น ผู้มีอายุ 60-69 ปี และ ผู้สูงอายุวัยกลาง ผู้มีอายุ 70-79 ปี พบว่ามีปัญหาในเรื่องของ สุขภาพกาย สุขภาพใจ ที่เข้าสู่ภาวะถดถอยเกินความจำเป็น ทั้งหมดแก้ไขได้โดยหลัก “พฤฒิพลัง” (Active elderly) ทำอย่างไรให้เหล่าสูงวัยไม่รู้สึกไร้ค่า คนกลุ่มนี้มีคุณค่าทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของผู้สูงอายุ และยังเป็นกำลังให้กับสังคม และด้าน “การสูงวัยอย่างมีพลัง” (Active ageing) เป็นแนวคิดที่แสดงกระบวนการสร้างโอกาสให้กับตนเอง หรือ ประชากรทุกเพศทุกวัยที่จะเติบโตเจริญวัยขึ้นอย่างมีสุขภาพดี มีส่วนร่วมในทางเศรษฐกิจและสังคม และมีความมั่นคงในชีวิต

เมื่อได้เล็งเห็นความสำคัญของกลุ่มผู้สูงอายุดังกล่าว จึงได้จัดทำรายการท่องเที่ยวเพื่อผู้สูงอายุขึ้น โดยเชื่อว่ารายการวันธรรมดากล้าเที่ยว จะตอบโจทย์ความท้าทายของการท่องเที่ยวของผู้สูงอายุได้ และเป็นส่วนหนึ่งที่จะสามารถกระตุ้นให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยให้สามารถสร้างประโยชน์ และมีสุขภาพดีอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นการสูงวัยที่ยังประโยชน์ มีความสามารถในการผลิต หรือบริการที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่า ไม่ว่าผลผลิตหรือบริการนั้นจะให้ผลตอบแทนเป็นตัวเงินหรือไม่ก็ตาม และเป็นการสูงวัยอย่างมีสุขภาวะ คือสามารถรักษาไว้ ซึ่งความสามารถในการปฏิบัติภารกิจประจำวันที่ช่วยให้เกิดการอยู่ดีมีสุขในผู้สูงอายุได้ต่อไปในอนาคต

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพงค์ แย้มเจริญ ที่ปรึกษาโครงการ เผยว่า จากการสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้สูงอายุกลุ่มอายุ 60-79 ปี หลากหลายสาขาอาชีพ เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการเสพสื่อของผู้สูงวัย พบว่าผู้สูงอายุในกลุ่มรายได้ปานกลาง ที่เกษียณอายุแล้ว ในกลุ่มผู้หญิงจะมีความชื่นชอบในการเดินทางท่องเที่ยวมากกว่ากลุ่มผู้ชาย ในด้านการหาข้อมูลการเดินทาง มักจะได้แรงบันดาลใจจากสื่อโซเชียลมีเดียที่ผู้สูงอายุใช้งานบ่อยที่สุด ได้แก่ Line, Facebook และ Youtube ตามลำดับ โดยกลุ่มเพื่อน คนใกล้ชิดจะมีอิทธิพลมากต่อการท่องเที่ยว เช่น การโพสต์ภาพการท่องเที่ยว การกินอาหารในที่ต่างๆ หรือการแชร์ข้อมูลรายการท่องเที่ยวให้แก่กัน โดยสื่อที่เข้าถึงผู้สูงอายุกลุ่มนี้ได้มากที่สุดคือ สื่อออนไลน์ โดยจะใช้เวลากับการรับชมสื่อเหล่านี้ตลอดทั้งวัน แต่ไม่ต่อเนื่อง

สำหรับรายการท่องเที่ยวที่ชื่นชอบ กลุ่มนี้มีความต้องการให้นำเสนอรายการให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตคนสูงวัย ต้องมีครบทั้งเรื่องกิน เที่ยว ทำบุญ และการเดินทาง แต่เรื่องราคาถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาที่จะเดินทางท่องเที่ยวอันดับ 1 จะต้องมีความสมเหตุสมผล ไม่แพงมากจนเกินไป ความสะดวกสบายในการเดินทางและการเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยว เป็นสิ่งสำคัญรองลงมา เนื่องจากผู้สูงอายุมีข้อจำกัดเรื่องการเคลื่อนไหวร่างกายและสุขภาพ เป็นต้น.

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,257 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Have Missed