ตำรวจไซเบอร์ แจงคดีหลอกลงทุน Forex TRB เหยื่อมากกว่า 300 ราย สูญ 100 ล้าน

ตำรวจไซเบอร์ แจงคดีหลอกลงทุน Forex TRB เหยื่อมากกว่า 300 ราย สูญ 100 ล้าน

โฆษกตำรวจไซเบอร์ ชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินคดีหลอกลงทุน Forex TRB พบผู้เสียหายมากกว่า 300 ราย ความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินคดีกับ นายเตคุณ กับพวก รวม 5 ราย ที่ได้ร่วมกันหลอกลวงชักชวนผู้เสียหายหลายรายให้ร่วมลงทุนเก็งกำไรในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา (Forex) ผ่านนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ FXTRB ดังต่อไปนี้

ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อประชาชนจากภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลอกลวงชักชวนประชาชนให้ร่วมลงทุน อ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว พร้อมได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง

พื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบในด้านงานป้องกันปราบปราม ได้กำชับไปยัง พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดทำการสืบสวนสอบสวน ขยายผลหาความเชื่อมโยงในดดี ปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

คดีดังกล่าวเมื่อประมาณเดือน มี.ค. 64 จนถึงปัจจุบัน ผู้เสียหายหลายรายถูกผู้ต้องหากับพวกชักชวนหลอกลวงให้ลงทุนเก็งกำไรในอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินสกุลต่างๆ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือเว็บไซต์ secure.elitefundgroup.com โดยมีนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ FXTRB เป็นผู้ดำเนินการนำเงินของที่ผู้เสียหายไปลงทุนเก็งกำไรค่าเงินสกุลต่างๆ มีการแอบอ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ซึ่งหากมีการซื้อขายได้กำไร หรือขาดทุน ผู้เสียหายสามารถตรวจสอบผ่านบัญชีผู้ใช้ของตนได้ ในช่วงแรกผู้เสียหายสามารถถอนเงินได้ตามปกติ ต่อมาเมื่อประมาณเดือน ส.ค. 65 ไม่สามารถถอนเงินได้ จึงเชื่อว่าถูกหลอกลวงและได้รับความเสียหาย จึงแจ้งความร้องทุกข์ผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ thaipoliceonline.com ให้ดำเนินดดีกับผู้ต้องหาตามกฎหมาย

ต่อมาจากการสืบสวนสอบสวนพบว่า บัญชีธนาคารที่รับโอนเงินของผู้เสียหายมีการโอนเงินเข้าออกเป็นจำนวนมากผิดปกติวิสัย โดยผู้ต้องหากับพวกไม่ได้มีการนำเงินไปลงทุนตามที่กล่าวแต่อย่างใด กลับนำไปใช้จ่ายส่วนตัว และมีการนำเงินลงทุนของผู้เสียหายรายใหม่ หมุนเวียนไปให้กับผู้เสียหายรายเก่า ทำให้เชื่อว่าลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนจริง พงส.บก.สอท.1 จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ยื่นคำร้องต่อศาลขออนุมัติออกหมายจับผู้ต้องหา จำนวน 5 ราย ในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวงนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่ง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน”

ต่อมาเมื่อ 17 ม.ค. 66 เจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. สามารถทำการจับกุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 ราย พร้อมตรวจยึดของกลางหลายรายการ ส่ง พงส. ดำเนินคดีตามกฎหมายในเวลาต่อมา

กระทั่งเมื่อปลายเดือน ก.พ. 66 ที่ผ่านมา พงส.บก.สอท.1 ได้สรุปสำนวนการสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาดังกล่าวไปยังพนักงานอัยการ สำนักงานคดีเศรษฐกิจ และทรัพยากร เพื่อพิจารณาดำเนินในส่วนที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายต่อไปแล้ว

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอฝากเตือนประชาชนถึงแนวทางการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

  1. ระมัดระวังอย่าหลงเชื่อการเชิญชวนในลักษณะดังกล่าว มักเป็นการหลอกลวงในรูปแบบของแชร์ลูกโซ่ ควรศึกษาทำความเข้าใจให้ดี ก่อนตัดสินใจลงทุน พิจารณาถึงความเสี่ยง และความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการ
  2. มิจฉาชีพมักหลอกลวงเหยื่อด้วยภาพลักษณ์ของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว เช่น ถ่ายภาพกับยานพาหนะหรู ที่พัก หรือของแบรนด์ต่างๆ
  3. ในระยะแรกเหยื่อจะได้รับผลตอบแทนจริง เพื่อชักจูงโน้มน้าวให้เพิ่มการลงทุน ภายหลังไม่ได้รับผลตอบแทนมิจฉาชีพหนีไปกับเงินลงทุนของเหยื่อ
  4. อย่าหลงเชื่อการลงทุนที่เข้าถึงได้ง่าย ได้รับผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว
  5. หลีกเลี่ยงการโอนเงินให้ผู้อื่นซื้อขายหรือลงทุนแทน ควรลงทุนด้วยตนเอง
  6. การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศต้องทำกับผู้ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้น เช่น ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์ ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อของผู้ได้รับใบอนุญาตได้ทางเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (www.bot.or.th)
  7. ในการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ จะต้องทำกับธุรกิจที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้น และปัจจุบันยังไม่เคยให้ใบอนุญาตแก่บุคคลหรือ นิติบุคคลที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์ ในการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อการลงทุนแต่อย่างใด
  8. กรณีผู้ที่สนใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ควรศึกษาข้อมูลบริษัทที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น www.sec.or.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของทาง ก.ล.ต. เป็นต้น
  9. หากได้รับความเสียหายในคดีลักษณะเดียวกันนี้ ให้รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้หากพบเบาะแสการกระทำความผิดหรือข้อขัดข้องใดๆ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วน บช.สอท. หมายเลข 1441 หรือหมายเลขโทรศัพท์ 02-5044850 ตลอด 24 ชม. หรือแจ้งความออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ thaipoliceonline.com

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,768 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Have Missed