ในช่วงที่ผ่านมาแม้ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุนทั่วโลก รวมถึงตลาดทุนไทยเอง ได้มีการจัดทำดัชนี SETESG Index และการประเมิน SET ESG Rating เพื่อประเมินบริษัทจดทะเบียนที่มีความยั่งยืน รวมถึงจัดตั้งกองทุน Thai ESG ซึ่งเป็นกองทุนที่ส่งเสริมการออมระยะยาว และสนับสนุนการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศ
แต่ความเชื่อมั่นในตัวชี้วัด “ความยั่งยืน” ต่างๆ ของนักลงทุน ถูกกดดันอย่างหนักจากประเด็นของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น EA หลังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษผู้บริหารรวม 3 ราย กรณี “ร่วมกันทุจริต” รวมกว่า 3.4 พันล้านบาท
จากก่อนหน้านี้ EA เคยถูกจัดกลุ่มเป็น “หุ้นน้ำดี” ที่ลิสต์อยู่ในดัชนี SET50 และดัชนี SETESG สะท้อนจากการประเมินคะแนนทางด้าน CG ระดับดีเยี่ยม (5 ดาว) เคยได้รับการประเมิน SET ESG Rating ระดับ AA และรางวัลอื่นๆ อีกมากมายการันตี ทั้งในด้าน ESG และความยั่งยืน
ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศเดินหน้ายกระดับ เพิ่มความเข้มข้นในการประเมินความยั่งยืน SET ESG Ratings ร่วมกับผู้ประเมินชั้นนำของโลก โดยจะมีการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจเบื้องต้น เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกระบวนการประเมินความยั่งยืนให้แก่บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในช่วงปลายเดือน ก.ค. 2567
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างการเดินหน้ายกระดับเพิ่มความเข้มข้นในการประเมินความยั่งยืน SET ESG Ratings โดยได้ศึกษาและหารือแนวทางร่วมกับผู้ประเมินชั้นนำของโลกมาตั้งแต่ปี 2565 และจะปรับกระบวนการประเมิน ซึ่งเน้นการนำข้อมูลที่เปิดเผยสู่สาธารณะ (public disclosure) มาพิจารณา เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียมีความเชื่อมั่นมากขึ้น
โดยจะมีการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจเบื้องต้น เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกระบวนการประเมินความยั่งยืนให้แก่บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในช่วงปลายเดือน ก.ค. 2567
ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ สนับสนุนให้ภาคธุรกิจดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เพื่อสร้างความเข้มแข็งและการเติบโตที่ยั่งยืน โดยจัดทำข้อมูล SET ESG Ratings ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญสำหรับผู้ลงทุนนำไปประกอบในการตัดสินใจลงทุน
ซึ่งปัจจุบันรายชื่อหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะคัดเลือกจาก บจ. ที่สมัครใจเข้าร่วมตอบแบบประเมินความยั่งยืน และต้องผ่านเกณฑ์ 2 ด้าน ได้แก่
1) เกณฑ์คะแนนจากการตอบแบบประเมินตั้งแต่ 50% ของคะแนนเต็มในแต่ละมิติ (มิติเศรษฐกิจและบรรษัทภิบาล สิ่งแวดล้อม และสังคม)
2) เกณฑ์ด้านคุณสมบัติ ประกอบด้วยหลายเกณฑ์ อาทิ ต้องเป็นบริษัทที่มีผลการประเมินคุณภาพรายงานด้านบรรษัทภิบาล (CGR) ซึ่งประเมินโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ตั้งแต่ 3 ดาวขึ้นไป ไม่เป็นบริษัทหรือมีกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ถูกกล่าวโทษหรือได้รับการตัดสินความผิดเรื่อง ESG จากทางการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
การปรับวิธีการประเมินร่วมกับผู้ประเมินชั้นนำของโลก จะช่วยยกระดับมาตรฐานการประเมินความยั่งยืนของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ สร้างความน่าเชื่อถือ และเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้ข้อมูลมากขึ้น
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/
aoHUhgNtns