ชีวิตในเมืองฝุ่น ปี 65 คนกรุงฯ สูด PM 2.5 เทียบเท่าสูบบุหรี่กว่า 1,224 มวน

ชีวิตในเมืองฝุ่น ปี 65 คนกรุงฯ สูด PM 2.5 เทียบเท่าสูบบุหรี่กว่า 1,224 มวน

“คนกรุงเทพฯ” เผชิญหน้ากับปัญหาฝุ่น PM 2.5 มานานหลายปี ซึ่งองค์กรอนามัยโลก (WHO) ตั้งค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศว่า หากมีเกินกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ขณะที่ประเทศไทยกำหนดอันตรายของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ล่าสุดได้มีการปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 จากไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566
และเป็นที่รู้กันว่า ฝุ่น PM 2.5 นั้น จะเริ่มเกิดในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว เนื่องจากอากาศช่วงนี้จะนิ่งกว่าช่วงอื่นๆ ของปี รวมไปถึงปัจจัยอื่นๆ อย่างเช่น การเผาเพื่อเตรียมพื้นที่การการทำเกษตรกรรม การเกิดไฟป่า ทั้งที่เกิดจากตามธรรมชาติและการลักลอบเผาป่า ซึ่งในช่วงต้นปี 2566 ประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ก็ยังมีปัญหาค่าฝุ่น PM 2.5 มีแนวโน้มสูงเกินมาตรฐาน
เปิดข้อมูลฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ 2565 ลดลงจริงหรือ?
หากย้อนกลับไปดูสถิติการเกิดฝุ่น PM 2.5 ในปีก่อนหน้านี้จะพบว่า แม้ในปี 2565 จะเป็นปีที่กรุงเทพฯ มีฝนตกหนักและต่อเนื่องยาวนาน จนทำให้ปัญหาเรื่องฝุ่นพิษ PM 2.5 ถูกกล่าวถึงน้อยลง และมีการคาดการณ์กันว่า ปริมาณฝุ่น PM 2.5 น่าจะลดลงตามไปด้วย เนื่องจากถูกฝนชะล้าง

แต่จากการสำรวจของ Rocket Media Lab ซึ่งทำงานด้านข้อมูลเพื่อการสื่อสารมวลชน โดยอ้างอิงข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project และอ้างอิงค่าระดับคุณภาพอากาศของค่า PM 2.5 จากข้อเสนอของกรีนพีซ มีข้อมูลดังนี้
ในปี 2565 กรุงเทพฯ มีวันที่อากาศดี คืออยู่เกณฑ์สีเขียวเพียง 49 วัน คิดเป็น 13.42% ของทั้งปี น้อยกว่าในปี 2564 ที่มีถึง 90 วัน ในขณะที่ส่วนใหญ่นั้นเป็นวันที่อากาศมีคุณภาพปานกลาง คือ เกณฑ์สีเหลือง 261 วัน หรือคิดเป็น 71.51% ของทั้งปี ซึ่งมากกว่าปี 2564 ที่มีจำนวน 202 วัน

ส่วนวันที่มีคุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษหรือสีส้มนั้นมีจำนวน 52 วัน หรือคิดเป็น 14.25% ของทั้งปี ลดลงจากปี 2564 ที่มี 61 วัน

และวันที่มีอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ หรืออยู่ในเกณฑ์สีแดงนั้นมีเพียง 3 วัน หรือคิดเป็น 0.82% ของทั้งปี ซึ่งลดลงจากปี 2564 ที่มีถึง 12 วัน

“เมษายน” แชมป์อากาศแย่ ปี 2565
จากข้อมูลยังพบว่า เดือนที่กรุงเทพฯ อากาศแย่มากที่สุดในปี 2565 คือเดือน “เมษายน” โดยมีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีแดงหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพ ถึง 3 วัน และเป็นเพียงเดือนเดียวที่มีสภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์สีแดง สูงสุด ณ วันที่ 9 เมษายน 2565 โดยมีค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 173 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ในปี 2563 และ 2564 เดือนที่กรุงเทพฯ มีอากาศเลวร้ายเต็มไปมลพิษฝุ่น PM 2.5 มากที่สุด คือเดือน “มกราคม” ขณะที่ปี 2565 กลับเป็นเดือน “เมษายน”
จับตา 3 เดือน กทม. เผชิญอากาศสุดเลวร้าย

นอกจาก “เมษายน” จะเป็นเดือนที่มีวันที่มีค่า PM 2.5 สูงสุด และมีวันที่สภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์สีแดงเพียงเดือนเดียวในปี 2565 แล้ว เมษายนยังเป็นเดือนที่มีอากาศเลวร้ายมากที่สุด โดยมีค่าฝุ่นเฉลี่ยสูงสุดอีกด้วย โดยมีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดีเพียง 2 วัน สีเหลืองหรือคุณภาพอากาศปานกลาง 19 วัน สีส้มหรือคุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 6 วัน และสีแดง หรือมีผลต่อสุขภาพ 3 วัน

รองลงมาคือ “ธันวาคม” โดยไม่มีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดีเลย ขณะที่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 20 วัน และสีส้ม คุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 11 วัน

ถัดมาคือเดือน “มกราคม” ซึ่งไม่มีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดีเลย และมีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 19 วัน และสีส้ม คุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 12 วัน
จะเห็นได้ว่าสามเดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดในปี 2565 แตกต่างจากในปี 2563 และ 2564 ที่มีสามเดือนที่มีอากาศเลวร้ายมากที่สุดคือเดือนธันวาคม มกราคม และกุมภาพันธ์

อย่างไรก็ตาม ค่าฝุ่นในแต่ละวันตามสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project เป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จึงอาจเป็นไปได้ว่าในวันหนึ่งอาจจะมีบางเขตของกรุงเทพฯ ที่มีค่าฝุ่นสูงกว่าค่าเฉลี่ยและมีบางเขตที่มีค่าฝุ่นต่ำกว่าเฉลี่ย หรือแม้กระทั่งมีค่าฝุ่นอยู่ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันในทุกๆ เขต
ฝุ่น PM 2.5 VS บุหรี่
ถ้าค่าฝุ่น PM 2.5 22 มคก./ลบ.ม. = บุหรี่ 1 มวน ปี 2565 ที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ สูบบุหรี่ไปกี่มวน?

จากงานของ Richard A. Muller นักวิจัยชาวอเมริกันจากสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ซึ่งคำนวณเปรียบเทียบปริมาณฝุ่น PM 2.5 กับปริมาณการสูบบุหรี่ พบว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทียบได้กับการสูบบุหรี่ 1 มวน

หากนำค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในแต่ละวันของปี 2565 มาคำนวณเปรียบเทียบกันจะพบว่า ในปี 2565 คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ ทั้งหมดจำนวน 1,224.77 มวน ลดลงถึง 37 มวนจากปี 2564 ที่มีจำนวน 1,261.05 มวน
อาจจะพูดได้ว่าในภาพรวมปี 2565 อากาศดีกว่าปี 2564 แม้จะมีวันที่อากาศดีอยู่ในเกณฑ์สีเขียวลดลงเกือบครึ่งหนึ่งก็ตาม

สำหรับเดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดในปี 2565 อย่างเดือนเมษายน คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 127.77 มวน คิดเป็นเฉลี่ยวันละ 4.26 มวน โดยลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นเดือนที่อากาศเลวร้ายที่สุด ที่คิดเป็นจำนวน 163.68 มวน

หรือในเดือนที่อากาศดีที่สุดในปี 2565 อย่างกรกฎาคม คนกรุงเทพฯ ก็ยังสูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 74.36 มวน เฉลี่ยวันละ 2.4 มวน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งเป็นเดือนที่อากาศดีที่สุดเช่นเดียวกัน ที่คิดเป็นจำนวน 64.86 มวน
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการชี้ว่าควันพิษจากบุหรี่นั้น มีสารพิษมากกว่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก.

ที่มา:ไทยรัฐ

ผู้นำเสนอข่าว

ยัยแม่มด

Written by:

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *