กกต. ประกาศ เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. 2566 มีผลบังคับใช้วันนี้ ให้ ผอ.กกต.จังหวัด จัดทำรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งภายใน 3 วัน ต้องมีแผนที่แสดงรายละเอียดแต่ละเขตเลือกตั้ง
วันที่ 31 ม.ค. 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ประกอบมาตรา 26 มาตรา 27 และมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566”
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดแล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจัดทำรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งภายใน 3 วัน โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกันและต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งใกล้เคียงกันแล้วประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างน้อย 3 รูปแบบเพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดเป็นเวลา 10 วันนับแต่วันปิดประกาศ ซึ่งแต่ละรูปแบบต้องประกอบด้วย
(1)รายละเอียดเกี่ยวกับอำเภอหรือตำบล หรือเขตพื้นที่ที่อยู่ในเขตเลือกตั้งแต่ละเขต
(2)จำนวนราษฎรของแต่ละเขตเลือกตั้ง และผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งจากจำนวนเฉลี่ยราษฎรต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คนในจังหวัดนั้น ทั้งนี้ ผลต่างของจำนวน
ราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของจำนวนเฉลี่ยต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคนในจังหวัดนั้น เว้นแต่เป็นกรณีมีความจำเป็นเพื่อให้ราษฎรในชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกันสามารถเดินทางได้โดยสะดวก
(3) เหตุผลประกอบการเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้ง
(4) แผนที่แสดงรายละเอียดของพื้นที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งแต่ละเขตเลือกตั้ง
ประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้ปิดไว้ ณ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล และให้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อชนิดต่าง ๆ ด้วย
ในกรณีพรรคการเมือง หน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลใดต้องการรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่ปิดประกาศไว้ ให้ขอคัดสำเนาจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด โดยเสียค่าใช้จ่ายเองตามวิธีการที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดกำหนด
ข้อ 4 ภายใน 3 วันนับแต่สิ้นสุดระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดตามข้อ 3 ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดประกอบการพิจารณาเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้งของจังหวัด แล้วรวบรวมสรุปความเห็นและข้อเสนอแนะของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัด พร้อมผลการพิจารณาข้อเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้งของจังหวัดอย่างน้อย 3 รูปแบบ เรียงตามลำดับความเหมาะสมเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งในวันถัดไป
ข้อ 5 เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับรายงานตามข้อ และได้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งแล้วให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ 6 เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปใช้บังคับ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ซึ่งจะต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับอำเภอหรือเขตพื้นที่ที่อยู่ในเขตเลือกตั้งในคราวนั้น โดยให้ถือเขตเลือกตั้งที่มีการประกาศกำหนดไว้ตามข้อ 5
ประกาศ ณ วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2566
อิทธิพร บุญประคอง
ประธานกรรมการการเลือกตั้ง