R.I.P เสือโคร่งวิจิตร ตายสมศักดิ์ศรีเสือ ต่อสู้แย่งตัวเมีย ปกป้องอาณาเขต

R.I.P เสือโคร่งวิจิตร ตายสมศักดิ์ศรีเสือ ต่อสู้แย่งตัวเมีย ปกป้องอาณาเขต

วันที่ 11 มกราคม 2566 ในป่าแม่วงก์ พื้นที่ตำบลปางตาไว อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจเสือดูโคร่งที่ตาย พร้อมผ่าพิสูจน์ซาก พบว่าเป็นเสือโคร่งเพศผู้ ตัวโตเต็มวัย ความยาวลำตัว 265 เซนติเมตร

ทราบต่อมาว่า เจ้าของซากนี้คือ เสือโคร่งวิจิตร ที่เคยเข้ามาประกาศอาณาเขตในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ กำแพงเพชร โดยเข้ามาในพื้นที่พักอาศัยของประชาชนจนทำให้แตกตื่น และเจ้าหน้าที่ต้องเร่งตามหาตัวผลักดันให้กลับเข้าป่าลึก

วิจิตร เมื่อครั้งยังหนุ่มแน่นกำยำ ออกเดินตรวจอาณาเขต

นายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินท์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 เปิดเผยถึงกรณีพบเสือโคร่งตายภายในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ว่า เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 ได้รับรายงานจากอุทยานฯ หลังเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ มว.6 (ซับตามิ่ง) แจ้งทางวิทยุสื่อสารว่าพบเสือโคร่งขนาดโตเต็มวัยนอนนิ่งอยู่บริเวณริมลำห้วยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เมื่อเข้าตรวจสอบพบว่าเสือโคร่งได้ตายลงแล้ว

ใช้กำลังเสริม 24 นาย เดินเท้า 2 วัน 1 คืน หามซากออกจากป่าผ่าพิสูจน์

เบื้องต้นพบว่า บริเวณลำตัวและคอมีบาดแผลคล้ายถูกฟันเขี้ยวของสัตว์ป่ากัด มีร่องรอยเล็บของสัตว์ป่าขนาดใหญ่อยู่ทั่วลำตัว ข้อเท้าหน้าหัก มีแผลเน่าหลายจุด ตรวจสอบบริเวณโดยรอบที่เกิดเหตุไม่พบสิ่งผิดปกติและบุคคลอื่น จึงได้ประสานขอนายสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) เข้าไปตรวจพิสูจน์หาสาเหตุการตายในพื้นที่ แต่เนื่องจากมีระยะทางที่ไกล ทำให้ไม่สามารถเข้าตรวจพิสูจน์การตายของเสือโคร่งในพื้นที่เกิดเหตุได้ จึงขอกำลังสนับสนุนเพื่อขนย้ายเสือโคร่งออกมาจากที่เกิดเหตุ เพื่อที่จะนำมาตรวจสาเหตุการตาย ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

ต่อมา วันที่ 11 มกราคม 2566 นางสาวพิมพ์ชนก สรงมงคล นายสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) พร้อมเจ้าหน้าที่ เข้าตรวจพิสูจน์เสือโคร่งที่ตายพร้อมผ่าพิสูจน์ซาก พบว่าเป็นเสือโคร่งเพศผู้ ตัวโตเต็มวัย ความยาวลำตัว 265 เซนติเมตร ความกว้าง 120 เซนติเมตร ความยาวขาหน้าซ้าย 85 เซนติเมตร ความยาวขาหน้าขวา 85 เซนติเมตร ความยาวขาหลังขวา 80 เซนติเมตร ความยาวขาหลังซ้าย 80 เซนติเมตร ความกว้างอุ้งเท้าหน้าซ้าย 9.1 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม อายุประมาณ 7-8 ปี

ซากที่พบในป่า

ลักษณะภายนอก สภาพซากเริ่มเน่าเปื่อย ขนหลุดร่วงเป็นบางบริเวณ พบหนอนแมลงวันขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ คาดว่าตายมาประมาณ 3 วัน พบบาดแผลลักษณะกลมและรี เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร ซึ่งเป็นลักษณะของบาดแผลที่เกิดจากรอยเขี้ยวสัตว์ทั่วลำตัว บริเวณหลัง ต้นคอ ขาหน้า และขาหลัง โดยบริเวณขาหน้าทั้ง 2 ข้าง พบบาดแผลจำนวนมาก และพบบาดแผลเป็นทางยาวขนาดประมาณ 3-5 เซนติเมตร คล้ายบาดแผลที่เกิดจากรอยเล็บสัตว์ ข้อเท้าหน้าซ้ายหัก ทำการเปิดผ่าซาก พบว่ากล้ามเนื้อบริเวณที่มีบาดแผลเป็นสีดำคล้ำต่างจากบริเวณที่ไม่มีบาดแผล พบก้อนหนองแทรกตามกล้ามเนื้อ สันนิษฐานได้ว่าเกิดการติดเชื้อในบริเวณดังกล่าว

จากการตรวจสอบภาพถ่ายของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปยังจุดเกิดเหตุ ไม่พบรอยเลือดในบริเวณที่เสือนอนตาย ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าบาดแผลที่พบตามลำตัวของเสือโคร่งไม่ใช่บาดแผลสด สันนิษฐานสาเหตุการตายของเสือโคร่งได้ว่า เกิดการติดเชื้อจากบาดแผลเข้าสู่กระแสเลือด (septicemia) ไม่ได้เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เป็นการตายตามธรรมชาติในระบบนิเวศ

จนท.เก็บไว้เพียงกระดูก

พิจารณาแล้วเห็นว่าซากเสือโคร่งที่ไม่เน่าเสีย ได้แก่ กระดูก ซึ่งมีคุณค่าสมควรแก่การเก็บรักษาไว้เพราะเป็นซากสัตว์ป่าคุ้มครองที่หายากใกล้สูญพันธุ์ ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในทางราชการและการศึกษาวิจัย จึงให้เก็บรักษาซากสัตว์ป่าไว้มิให้ทำลาย โดยวิธีการต่อกระดูกสัตว์ ในส่วนของซากอื่นๆ ได้แก่ หนัง และเนื้อ เห็นควรทำลายซากโดยวิธีการเผา ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการดำเนินการแก่สัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า และค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์ป่า พ.ศ.2565 โดยเคร่งครัด

ทั้งนี้ จากการพิสูจน์เปรียบเทียบลวดลายบนตัวเสือที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ จำแนกระบุยืนยันตัวเสือโคร่ง พบว่าเสือโคร่งมีรหัสข้อมูลตามโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง WWF ชื่อ “เสือวิจิตร” ที่ข้อมูลสถานีวิจัยเขานางรำบันทึกไว้ ในการนี้ จากข้อมูลวิจัยเสือโคร่งวิจิตร เป็นเสือหนุ่มอายุประมาณ 5 ปี เกิดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี เริ่มมาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยในป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และคลองลาน ใกล้บริเวณที่ทำการอุทยานฯ และจุดสกัดแม่กระสา ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา

บริเวณนี้มีเสือตัวเมียประจำถิ่น มีสัตว์เหยื่อ เช่น กวางป่า ที่มีความหนาแน่นของประชากรน้อยกว่าหลายๆ จุด จึงได้มีการดำเนินโครงการฟื้นฟูประชากรสัตว์กีบ เพื่อเพิ่มอัตราการแพร่พันธุ์ของกวางป่าในพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2565-2566 ต่อเนื่อง อนึ่ง บริเวณใกล้เคียงยังมีเสือโคร่งตัวผู้ประจำถิ่นครองอาณาเขตอยู่ด้วย จึงมีโอกาสเป็นไปได้ว่าจะมีการต่อสู้กันเพื่อแย่งการครอบครองอาณาเขตได้ อันอาจเป็นสาเหตุของการตายของเสือวิจิตรในครั้งนี้

สำหรับ เสือวิจิตร เสือโคร่งรหัส HKT271 เป็นเสือจากผืนป่าห้วยขาแข้ง เสือหนุ่มนักเดินทางที่ช่วยไขความลับปลอกคอ หลังผละจากครอบครัว เตรียมหาบ้านหลังใหม่ นักวิจัยเผยความประทับใจ ยืนยันเสือโคร่งไม่ดุ แต่เป็นสัตว์น่ารักอ่อนโยน ขี้เล่น

“วิจิตร” เป็นเสือโคร่งตัวผู้ (ตอนพบอายุประมาณ 4 ปี) เป็นลูก 1 ใน 3 ตัวของ “พ่อธนกร” และ “แม่เอื้อง” แห่งหุบเขานางรำ เขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี มีพี่สาว 2 ตัวชื่อ “อภิญญา” และ “ผกา”

“วิจิตร” เป็นเสือที่ถูกเรียกรหัสการค้นพบว่า HKT271 หลังจากนักวิจัยเจอตัวปี 2562 โดยตั้งชื่อว่า “วิจิตร” ซึ่งเป็นหนึ่งในชื่อของทีมวิจัยเสือ Thailand Tiger Project DNP กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่พบครอบครัวเสือครอบครัวนี้ และเฝ้าดูพฤติกรรมจนถึงปัจจุบัน

จากนั้นในปี 2563 นักวิจัยมีการติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียม เพื่อติดตามพฤติกรรมการหากินและการอยู่อาศัย เนื่องจากครอบครัวของวิจิตรเป็นครอบครัวเสือกว่า 200 ตัวที่ทีมวิจัยพบ และศึกษาในป่าห้วยขาแข้งและป่าตะวันตกมาตั้งแต่ปี 2547

เมื่อพ่ายแพ้ก็ต้องจากไป หลีกทางให้ผู้แข็งแรงกว่าได้สืบสายพันธุ์ตามกฎธรรมชาติ

มกราคม ปี 2566 วิจิตร ในวัยหนุ่มฉกรรจ์ ออกผจญภัยสร้างอาณาจักรของตัวเองได้ถูกท้าทายจากเสือตัวอื่นที่หนุ่มแน่นมีพละกำลังมากกว่า และวิจิตรเสือผู้อ่อนโยน ขี้เล่น ก็จากไปตามวิถีทางของเสือ.

ที่มาข้อมูล : อุทยานแห่งชาติแม่วงก์
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,257 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Have Missed