KT ยกสัญญาไม่ชอบกฎหมาย ยื่น 5 ข้อแจงศาล คดีหนี้ BTS หลายหมื่นล้าน

KT ยกสัญญาไม่ชอบกฎหมาย ยื่น 5 ข้อแจงศาล คดีหนี้ BTS หลายหมื่นล้าน

เมื่อวันที่ 16 ม.ค.66 รายงานข่าวจากบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) แจ้งว่า จากการประชุมบอร์ดบริษัทกรุงเทพธนาคม มีนายธงทอง จันทรางศุ เป็นประธานในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติให้ทนายความตัวแทนของบริษัทเข้ายื่นคำให้การต่อศาลปกครองในคดีที่ 2 ซึ่ง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ BTSC ยื่นฟ้อง กทม. และบริษัท เพื่อให้ชำระหนี้ค่าเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเป็นจำนวนเงินอีก 10,600 ล้านบาท โดยศาลปกครองจะส่งสำเนาคำให้การของบริษัทเคทีไปให้บีทีเอสซีเร็วๆนี้ ตามขั้นตอนแสวงหาข้อเท็จจริงเหตุผลหักล้างกันต่อไป

สำหรับการยื่นคำให้การครั้งนี้มีประเด็นสำคัญที่บริษัทเคทีได้ชี้แจงให้ศาลเห็นถึงข้อเท็จจริงในการจัดทำสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ดังนี้ 1.สัญญาระหว่างบริษัทเคทีกับบีทีเอสซีนั้น นำมาสู่ข้อพิพาทระหว่างบริษัทเอกชนด้วยกัน ไม่ได้มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง จึงไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง

2.บริษัทเคทีไม่มีอำนาจเข้าทำสัญญาว่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง เพราะตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ลงวันที่ 25 ม.ค.2515 ข้อ 4 ระบุให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการรถราง โดย รมว.มหาดไทยเท่านั้น เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้บุคคลใดประกอบกิจการได้ ทั้งนี้บริษัทเคทีก็ไม่เคยได้รับการอนุญาตจาก รมว.มหาดไทย

3.สัญญาจ้างที่บริษัทเคทีกระทำกับบีทีเอสซีเป็นสัญญาที่ไม่ชอบ เพราะจงใจจัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาที่ฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี ขัดต่อกฎหมายหลายฉบับ อาทิ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการพัสดุฯ เรื่องการงบประมาณ ตลอดจน พ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งตามหลักกฎหมายนั้น ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน กล่าวคือบริษัทเคทีไม่มีอำนาจนำเอางานที่รับจ้างจาก กทม.ไปทำสัญญาจ้างกับบุคคลอื่นตามอำเภอใจได้ 4.การที่บริษัทเคทีไปทำสัญญาว่าจ้างบีทีเอสซีให้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวโดยตรงโดยไม่ได้เปิดโอกาสให้เอกชนรายอื่นที่อาจเสนอตัวเข้าร่วมโครงการ ย่อมส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอีกด้วย สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่ไม่ชอบ

5.การฟ้องคดีของบีทีเอสซีในคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะบีทีเอสซีทราบดีอยู่แล้วว่าบริษัทเคทีไม่สามารถดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ได้ด้วยตนเอง แต่บีทีเอสซี ยังสมัครใจเข้าทำสัญญากับบริษัทเคที แล้วกลับมาฟ้องคดี ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

ด้านนายประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้อำนวยการบริษัทเคที เปิดเผยว่า คำให้การในคดีที่ 2 นี้ มีความสมบูรณ์กว่าในคดีแรก ซึ่งศาลได้ปิดสำนวนไปในช่วงที่ผู้บริหารบริษัทเคทีชุดนี้เข้ามาทำหน้าที่เร่งหาข้อเท็จจริงเพียง 2 เดือน ส่วนผลคดีจะเป็นอย่างไรนั้น อยู่ที่อำนาจของศาลจะตัดสิน.

ผู้นำเสนอข่าว

Lemon

Written by:

720 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Have Missed