แห่ไหว้ “เทพเจ้า” รับ “วันตรุษจีน” ตระเวน “แก้ชง” เสริมโชคชะตา ขอพรทั่วไทย!

แห่ไหว้ “เทพเจ้า” รับ “วันตรุษจีน” ตระเวน “แก้ชง” เสริมโชคชะตา ขอพรทั่วไทย!

ตรุษจีนปี 2566 สุดคึกคัก คนไทยเชื้อสายจีนจัดเต็มเครื่องเซ่นไหว้ตามประเพณี จากนั้นเดินหน้าเข้า วัด ศาลเจ้า ทำบุญกราบขอพร แก้ปีชงตามความเชื่อ พร้อมเสริมดวงชะตาเพื่อความเป็นสิริมงคล ตกดึกร่วมไหว้รับเทพเจ้าแห่งโชคลาภ “ไฉ่ซิงเอี๊ย” เน้นขอรับทรัพย์ ทำมาค้าขายรุ่งเรือง ขณะที่หลายพื้นที่จัดกิจกรรมดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาล้นหลาม

เป็นประจำในเทศกาลตรุษจีน ที่ชาวจีนในไทยและคนไทยเชื้อสายจีน จะตั้งโต๊ะเซ่นไหว้เทพเจ้าต่างๆ และบรรพบุรุษในวันไหว้ ซึ่งปี 2566 ตรงกับวันที่ 21 ม.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการจัดโต๊ะทำพิธีกราบไหว้ในเทศกาลตรุษจีนปีนี้ เป็นไปอย่างคึกคักทั่วประเทศ หลังเงียบเหงามานานจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยที่อนุสาวรีย์ท้าว สุรนารี (คุณย่าโม) ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา คนไทยเชื้อสายจีนทยอยนำเครื่องเซ่นไหว้ อาหารคาวหวาน อาทิ หัวหมู ไก่ต้ม เป็ดต้ม กุ้ง หอย ปูปลา ขนมเทียน ขนมเข่ง และผลไม้ มากราบไหว้สักการะคุณย่าโม สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่เคารพนับถือกราบไหว้ รวมทั้งศาลเจ้าพ่อไฟ ศาลหลักเมือง และตามศาลเจ้าในตัวเมืองและตามอำเภอต่างๆ โดยคนที่มายังสวมใส่เสื้อผ้าสีแดง โดยเฉพาะชุดกี่เพ้าสีแดงสดและสีเหลืองทอง

จากนั้นช่วงเย็น ที่เดอะมอลล์ โคราช มีการแสดงเชิงศิลปวัฒนธรรมจีนสุดตระการตา อาทิ โชว์ “หงส์คู่มังกร” เป็นตัวแทนของความเป็นคู่กันที่มั่นคง และยั่งยืน ส่วนที่บริเวณลานน้ำตกหน้าห้างฯ มีการแสดง “พญามังกรทองจักรพรรดิ เฮงๆรวยๆ” ตระการตากับการเชิดมังกรสีทอง ความยาว 55 เมตร ประดับด้วยหลอดไฟ LED กว่า 2,023 ดวง แสดงเล่นน้ำตก พ่นน้ำ ขึ้นเสาสูงเกือบเท่าตึก 3 ชั้น และการแสดงสิงโตขานความสุข จากคณะสิงโตมังกรทองลูกหลวงพ่อศรีสวรรค์ ศิษย์หลวงพ่อบุญนำ จังหวัดนครสวรรค์

ส่วนที่ จ.นครสวรรค์ ชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ออกมาตั้งโต๊ะไหว้เจ้าบริเวณหน้าบ้าน และร้านค้ากันตั้งแต่เช้าตรู่ ทำให้สองข้างทางในพื้นที่เขตเศรษฐกิจเทศบาลนครนครสวรรค์ เป็นไปด้วยความคึกคัก โดยชาวไทยเชื้อสายจีนแต่งชุดแดงออกมาตั้งโต๊ะเครื่องเซ่นไหว้ ที่มีทั้ง หมู เป็ด ไก่ ผลไม้ สุรา และเครื่องเซ่นอีกหลายชนิด ในขณะที่ตามศาลเจ้า อาทิ ศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่หน้าผา เจ้าพ่อเทพพารักษ์-เจ้าแม่ทับทิม เป็นศาลเจ้าหลักของชาวปากน้ำโพและชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่อื่นๆ ก็เนืองแน่นไปด้วยชาวไทยเชื้อสายจีนใส่เสื้อสีแดงสีสดใส นำของมาเซ่นไหว้ต่อเนื่อง

สำหรับจังหวัดชายแดนใต้ที่ จ.ปัตตานี ที่มีศาลเจ้าดังที่รู้จักไปทั่วอย่าง ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หรือศาลเจ้าเล่งจูเกียง ถนนอาเนาะรู ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวไทยเชื้อสายจีนทยอยนำของไหว้สารพัดอย่าง มากราบไหว้พระขอพรในศาลเจ้ากันตั้งแต่เช้า รวมถึงไหว้ขอพรกับ “เฉ่งจุ้ยโจวซือ” หรือที่คนปัตตานีรู้จักกันในนาม “พระหมอ” ที่ประดิษฐานอยู่ ณ โถงกลางของศาลเจ้าเล่งจูเกียงที่มีความเชื่อในการขอให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง อีกทั้งยังมีการเคาะระฆังและตีกลองในศาลเจ้าเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองเช่นกัน นอกจากนั้นมีการแห่สิงโตจุดประทัดกันอย่างสนุกสนาน และลูกศิษย์ของศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และเทพไฉ่ซิงเอี๊ยหรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ประทับเกี้ยวแห่ไปตามบ้านของคนไทยเชื้อสายจีนที่จัดโต๊ะนำของมาไหว้บริเวณหน้าบ้าน เพื่อให้ผู้คนได้กราบไหว้และขอพรในช่วงเทศกาลตรุษจีน

ขณะที่บริเวณถนนนวลสกุล ในเขตเทศบาลนครยะลา ชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่นำเครื่องเซ่นไหว้ มาตั้งเรียงไว้บนโต๊ะที่บริเวณหน้าบ้าน พร้อมให้บุคคลในครอบครัวร่วมไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวดาฟ้าดิน เพื่อขอพร ให้เกิดความสิริมงคลในวันขึ้นปีใหม่จีน รวมทั้งบรรพบุรุษ พ่อแม่ ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทิตา ขณะที่บรรยากาศที่ศาลเจ้ามูลนิธิแม่กอเหนี่ยวยะลา (ศูนย์กู้ภัยแม่กอเหนี่ยว) อ.เมืองยะลา เจ้าหน้าที่กู้ภัยแม่กอเหนี่ยวยะลาไหว้รถกู้ชีพกู้ภัยและรถพยาบาลที่จอดเรียงรายภายในมูลนิธิฯ จำนวน 16 คัน และตั้งเครื่องเซ่นไหว้ เพื่อเอาฤกษ์เอาชัยในช่วงเทศกาลตรุษจีน และพร้อมออกช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอด 24 ชม.

เช่นเดียวกับที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา ถนนนางงาม เขตเทศบาลนครสงขลา ก็เนืองแน่นไปด้วยชาวไทยเชื้อสายจีนในเมืองสงขลา พาครอบครัวร่วมกันนำเครื่องเซ่นไหว้มากราบไหว้พระและเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว และในคืนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของชาวไทยเชื้อสายจีน มีพิธีจุดธูปเทียนขนาดใหญ่ไหว้พระที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา เพื่อรอรับเทพเจ้าแห่งโชคลาภ “ไฉ่ซิงเอี๊ย” ที่ชาวจีนเคารพนับถือเพื่อให้เกิดโชคลาภ ความมั่งคั่ง ความร่ำรวย โดยฤกษ์ที่ดีที่สุดคือระหว่างเวลา 23.00-00.30 น.

ส่วนที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา บรรยากาศในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้คึกคักเมื่อมีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียและสิงคโปร์ทยอยเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงตรุษจีนอย่างต่อเนื่อง โดย อ.หาดใหญ่ จัดงานเทศกาลตรุษจีนหาดใหญ่ไชน่าทาวน์ ระหว่างวันที่ 20-24 มกราคมนี้ มีการปิดถนนเสน่หานุสรณ์เป็นสถานที่จัดงาน ปีนี้มีสีสันที่มีเถ้าแก่ใจดี ชื่อนายฮันยัน เชน อายุ 55 ปี เจ้าของ หจก.ธนวัฒน์ ค้าข้าว ตั้งอยู่ย่านถนนรัถการ เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ และครอบครัวได้แจกข้าวสารหอมมะลิอย่างดีให้กับชาวบ้านในเมืองหาดใหญ่ เป็นข้าวสารถุงละ 5 กิโลกรัม จำนวน 700 ถุง เพื่อเป็นอั่งเปามอบให้กับชาวบ้าน นายฮันยันบอกถึงที่มาของการแจกข้าวสารในวันตรุษจีนว่าเพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดินไทย หลังจากที่เดินทางมาจากเมืองซัวเถา ประเทศจีน เข้ามาอยู่เมืองไทยตั้งแต่อายุ 20 ปี และมาเปิดกิจการขายข้าวสารอยู่ที่ อ.หาดใหญ่ ทำมาหากินจน กิจการรุ่งเรือง ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีไม่ดี ก็แจกข้าวสารเป็นข้าวหอมมะลิอย่างดีและแจกต่อเนื่องทุกปี

ด้าน จ.ภูเก็ต ในช่วงสายตามบ้าน ห้างร้าน บริษัทต่างๆ ชาวภูเก็ตเชื้อสายจีนตั้งโต๊ะด้านหน้าอาคาร ประกอบพิธีไหว้เจ้าที่และพระในบ้าน ต่อด้วยพิธีไว้บรรพบุรุษกันอย่างคึกคัก ก่อนที่ช่วงบ่ายจะประกอบพิธีไหว้สัมภเวสี และในช่วงกลางดึก เวลา 23.00-02.59 น. จะประกอบพิธีไหว้ไฉ่ซิงเอี๊ย ชาว ภูเก็ตเชื้อสายจีนจะสวมใส่เสื้อผ้าใหม่ในชุดสีแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 22 ม.ค. เป็นวันขึ้นปีใหม่ ของชาวจีนหรือเทศกาลตรุษจีน

สำหรับที่ย่านเยาวราช ชุมชนชาวจีนใหญ่ที่สุดใน กทม. บรรยากาศวันไหว้ ปีนี้ถือว่าคึกคักกว่าปีที่ผ่านๆมา โดยคนไทยเชื้อสายจีนในย่านเยาวราช ต่างสวมใส่เสื้อผ้าสีสันสดใส เน้นใส่สีแดงได้ออกมาตั้งโต๊ะเครื่องเซ่นไหว้ ที่มีทั้งเป็ด ไก่ ขนม ผลไม้มงคล รวมถึงเผากระดาษเงินกระดาษทอง ที่บริเวณหน้าบ้านของตนเองตั้งแต่เช้ามืด เพื่อไหว้บรรพบุรุษ และมีการจุดประทัดดังกึกก้อง เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นเทศกาลตรุษจีนในปีนี้ ก่อนเดินทางไปกราบไหว้ทำบุญตามศาลเจ้าและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ เพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิตทำให้วัดวาอารามและศาลเจ้าทุกแห่งในเมืองหลวง เนืองแน่นไปด้วยชาวไทยเชื้อสายจีน และนักท่องเที่ยวชาวจีน เช่น ที่วัดมังกรกมลาวาส หรือวัดเล่งเน่ยยี่ ตั้งแต่ช่วงเช้าประชาชนส่วนใหญ่ที่เกิดปีระกา ปีชวด และปีมะเมีย ถือว่าเป็นปีชงกับปีเถาะ เข้ามาทำพิธีแก้ปีชงตามหลักโหราศาสตร์จีน ด้วยการฝากดวงชะตากับองค์ไท้ส่วย พร้อมอธิษฐานขอพรเทพเจ้าคุ้มครอง ปกป้องให้รอดพ้นจากภยันตรายต่างๆ ตลอดปีกันอย่างเนืองแน่น นอกจากนี้ ประชาชนบางรายยังนำกระเป๋าสตางค์ ธนบัตร มาใส่ปากสิงโตหน้าวัดมังกรกมลาวาส เพื่อแก้เคล็ด ขอให้ทรัพย์สินไหลมาเทมาตลอดทั้งปี 2566 ขณะที่ตามร้านขายของที่ระลึก เครื่องรางตามความเชื่อของคนจีนโดยรอบวัด มีคนเข้ามาหาซื้อเครื่องราง สิ่งมงคล เป็นจำนวนมากเช่นกัน

ส่วนที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ ท่าเตียน จัดงานเทศกาลตรุษจีน ประจำปี 2566 อย่างยิ่งใหญ่ มีการจำลองบรรยากาศวัฒนธรรมไทย-จีนแบบดั้งเดิม พร้อมกิจกรรมมากมาย ทำให้มีคนไทยเชื้อสายจีนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เข้ามาเที่ยวชมงานไม่ขาดสาย รวมถึงเข้ามาไหว้พระเสริมสิริมงคล ชื่นชมความงามของประติมากรรมแบบจีนดั้งเดิมที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯให้นำมาประดับไว้ทั่วพระอาราม อาทิ รูปสลักหินและปูนปั้นแบบจีน ในอดีตเป็นเครื่องอับเฉาที่ใช้เป็นอุปกรณ์ถ่วงเรือสำเภาตอนขากลับจากการเดินเรือค้าขายจากประเทศจีนมายังประเทศไทย เช่น “ลั่นถัน” หรือตุ๊กตาหิน ยืนท้าวเอวถืออาวุธ แต่งกายแบบงิ้วหรือรูปปั้น “มาร์โคโปโล” ตุ๊กตาฝรั่งศิลปะแบบจีน ที่นับเป็นฝรั่งคนแรกที่เดินทางเข้าไปในประเทศจีน หรือรูปปั้นคล้ายคน อาทิ นักรบ ขุนนาง นักบวช รวมถึงรูปสัตว์ต่างๆ ที่แสดงให้เห็นประติมากรรมและคติความเชื่อของชาวจีน นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังเข้าเที่ยวชมสวนมิสกวัน หรือ “โพธิ์ลังกา” เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนมีองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมและรูปปั้นพระสังกัจจายน์ ประดิษฐานไว้ให้สักการะ ทั้งยังมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการเสริมสิริมงคล อาทิ การประพรมน้ำพระพุทธมนต์ 100 ปีวัดโพธิ์ การถวายน้ำมันตะเกียงบูชาพระโพธิสัตว์กวนอิม การปิดทองพระศรีอริยเมตไตรย การทำบุญเสริมดวงประจำปีนักษัตร เป็นต้น

ด้านสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีมีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเข้ามาที่วัดจำนวนมากจนถึงปัจจุบันมีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงมาก งานเทศกาลตรุษจีนจะจัดไปจนถึงวันที่ 25 ม.ค.นี้ ถือเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยได้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกัน ที่ศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร เป็นหนึ่งสถานที่ที่ประชาชนคนไทยเชื้อสายจีนให้ความนิยมมาสักการะบูชาเทพเจ้าและทำพิธีแก้ชง ตลอดทั้งวัน มีประชาชนเดินทางมาที่ศาลไม่ขาดสาย โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลศาลจัดระเบียบการเข้า-ออกเพื่อความสะดวกรวดเร็ว รวมถึงคอยแนะนำขั้นตอนการไหว้ขอพรอย่างถูกวิธี สำหรับผู้ที่ไม่ได้นำของเซ่นไหว้มาจากบ้าน บริเวณด้านหน้าก็มีของเซ่นไหว้พร้อมทุกอย่าง จำหน่ายชุดละ 20-60 บาท โดยของเซ่นไหว้เจ้าพ่อเสือ ได้แก่ ธูปเทียน 20 บาท หมู 30 บาท มาลัย 30 บาท และหมูใหญ่ 60 บาท เชื่อกันว่าของเซ่นไหว้นี้จะช่วยให้ประสบความสำเร็จสมปรารถนาทั้งในเรื่องหน้าที่การงานรวมไปถึงเรื่องคู่ครอง

ผู้นำเสนอข่าว

Lemon

Written by:

720 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *