แจงลดขั้นตอนเบิกจ่ายค่าป่วยการ อสม.เพิ่มความสะดวกเหมาะกับยุคสมัย

แจงลดขั้นตอนเบิกจ่ายค่าป่วยการ อสม.เพิ่มความสะดวกเหมาะกับยุคสมัย

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยภายหลังประชุมชี้แจงการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ว่า

ได้ชี้แจง “หลักเกณฑ์การปฏิบัติงานของ อสม. และการรายงานผลปฏิบัติงามตามแบบ (อสม.1) พ.ศ.2566” ให้ผู้บริหารและประธานอสม.รับทราบถึงแนวปฏิบัติ โดยกำหนดให้รายงานผลผ่านระบบ E-Social Welfare มายังสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ให้การรับรอง และส่งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ก่อนส่งเรื่องไปยังกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังเพื่อเบิกจ่ายค่าป่วยการ ช่วยลดขั้นตอนจากเดิมที่ต้องส่งเรื่องผ่านไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ก่อนใช้เวลาถึง 3-5 วัน

การนำระบบ E-Social Welfare เข้ามาใช้ในการรับรองผลการปฏิบัติงานของ อสม. เป็นการอำนวยความสะดวกการปฏิบัติงานและการรายงานผล ทำให้การเบิกจ่ายค่าป่วยการมีความคล่องตัว โปร่งใส อีกทั้งยังช่วยเชื่อมประสานการทำงานกับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น และจะส่งผลต่อการพัฒนาระบบ อสม.ให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

นพ.สุระกล่าวว่า สำหรับผลการปฏิบัติงานที่ อสม.ต้องรายงานเป็นประจำทุกเดือนประกอบด้วย 9 ภารกิจหลัก ได้แก่ 1.ส่งเสริมสุขภาพ 2.เฝ้าระวังโรค 3.ฟื้นฟูสุขภาพ 4.คุ้มครองผู้บริโภค 5.จัดการสุขภาพตำบล 6.สนับสนุนอาสาสมัครประจำครอบครัว (อสค.) 7.การใช้ยาสมเหตุสมผล 8.เข้าร่วมกับทีมหมอในการดูแลผู้ป่วยในชุมชน และ 9.กิจกรรมอื่นๆ ตามสภาพสังคม อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 ได้เน้นภารกิจเพิ่มเติมในเรื่องการคัดกรองผู้สูงอายุทั่วประเทศ 12 ล้านคน การปฏิบัติตามโครงการ 3 หมอ ที่ให้ อสม.เป็นหมอคนที่ 1 อยู่ดูแลคนในชุมชน ปัจจุบันมี อสม.ทั่วประเทศกว่า 1,300,000 คน ส่วนการปรับเพิ่มค่าป่วยการให้ อสม.เป็น 2,000 บาท ต่อเดือน อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดเสนอ รมว.สธ.ลงนามก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

ด้านนายจำรัส คำรอด ประธานชมรม อสม.แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ประธานชมรม อสม.ระดับหมู่บ้าน/ชุมชน เป็นผู้ที่มีหน้าที่รับรองผลการปฏิบัติงานของ อสม.ในพื้นที่อยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มบทบาทการทำงานของประธานชมรม อสม.ระดับตำบลให้เข้ามามีส่วนในการทำงานมากขึ้น ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพ ยกระดับผู้นำ อสม.อีกทางหนึ่ง.

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,693 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Have Missed