ปลัด อว. เปิดตัวระบบ “COMMU MAX” นวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐที่เชื่อมต่อเป็นเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ยกระดับการสื่อสารของภาครัฐ
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดงานแถลงข่าว เปิดตัวหลักสูตรพัฒนานักนวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐ COMMU MAX โดย ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดม ศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ปลัด อว.) ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีกล่าวเปิดงานและเปิดตัวหลักสูตรพัฒนานักนวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐ COMMU MAX พร้อมกล่าวถึง
การผลักดันวิสัยทัศน์ของกระทรวง (อว.) และการนำไปปรับใช้กับโครงการอื่นๆ ต่อในอนาคต
โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผวช.) กล่าวรายงานถึง พันธกิจและวิสัยทัศน์ของกระทรวง อว. และที่มาของโครงการและหลักสูตร Commu Max พร้อมด้วย ดร.ธันยพร สุนทรธรรม ผู้ช่วยอธิการบดี (ฝ่ายการนักศึกษา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการ TUXSA MBA (Business Innovation) หัวหน้าโครงการวิจัย ซึ่งมีคณะผู้บริหาร ผู้เข้าร่วมอบรมจากหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวง (อว.) และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ชั้น 1 อาคาร วช.8. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ปลัด อว.) กล่าวว่า กระทรวง (อว.) ได้จัดตั้งขึ้นในปี 2562 โดยมีภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งในการส่งเสริมสนับสนุน ให้ดำเนินการวิจัย และสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในวงกว้าง มีโครงการใหม่ๆ ที่น่าสนใจภายใต้การดูแลของ (อว.) หลายโครงการ ทั้งโครงการที่ดำเนินการสำเร็จลุล่วงแล้ว และที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ อาทิโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย หรือ Thai MOOC โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ หรือ โครงการ U2T มหาวิทยาลัยสู่ตำบลและโครงการสุดยอดนวัตกรรมประเทศไทยระดับภูมิภาค “นิลมังกรแคมเปญ” เป็นต้น ทั้งนี้ที่ผ่านมา ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนโยบาย กิจกรรม โครงการ และมาตรการต่างๆ ที่กระทรวงได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ยังเป็นที่รับรู้แพร่หลายในวงไม่กว้างนัก ทั้งในกลุ่มประชาชนทั่วไป และกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่กระทรวง (อว.) และหน่วยงานในสังกัดต่างๆ ต้องการที่จะส่งสารไปถึง ทำให้ขาดการรับรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมความก้าวหน้าใหม่ๆ ที่ (อว.) ผลักดันให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม รวมไปถึงการขาดความเข้าใจในวิสัยทัศน์ พันธกิจ และบทบาทหน้าที่ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ส่งผลต่อการมีส่วนร่วม และไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการที่กระทรวง (อว.) ดำเนินการเท่าที่ควร ซึ่งข้อจำกัดนี้ก็เป็นปัญหาสำคัญของการสื่อสารประชาสัมพันธ์ของอีกหลายหน่วยงานในภาครัฐเช่นกัน
กระทรวง (อว.) ได้เล็งเห็นความสำคัญของการเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนสื่อสังคมออนไลน์ที่ทวีความสำคัญจนกลายเป็นช่องทางหลักของการสื่อสารของสังคมไทยในปัจจุบัน (อว.) ได้ริเริ่มให้มีโครงการหลักสูตรพัฒนานักนวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐ COMMU MAX ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ (วช.) เพื่อพัฒนาโมเดลการสื่อสารและเนื้อหาการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลการประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กรของภาครัฐให้มีแนวคิด ความรู้ความเข้าใจ ทักษะ และเครื่องมือในการบริหารจัดการ วางแผน และสร้างสรรค์สื่อประชาสัมพันธ์ของแต่ละองค์กรหรือหน่วยงาน ให้สามารถเลือกใช้วิธีการสื่อสารที่ถูกต้อง ตรงประเด็น มีประสิทธิภาพ สร้างสรรค์สื่อที่เชื่อมโยงกับความสนใจและรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ เพื่อสร้างการบอกต่อข้อมูลข่าวสาร โครงการ งานวิจัยต่างๆ ของกระทรวงได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งขอขอบคุณและให้กำลังใจบุคลากรกว่า 90 คนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวง (อว.) กว่า 30 หน่วยงานที่ให้ความร่วมมือและสนใจเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ ให้เกิดการพัฒนาการสื่อสารในหน่วยงานของท่าน ตลอดจนในระดับกระทรวงในภาพรวม เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด และหวังว่าจะได้เห็นงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เช่นนี้ต่อไปอีกในอนาคต
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผวช.) กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันที่นวัตกรรมการสื่อสารได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร โครงการและนโยบายที่เป็นประโยชน์ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ จัดทำขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม (วช.) จึงได้รับเอาวิสัยทัศน์นี้มาเป็นภารกิจโดยสนับสนุนให้จัดตั้งโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาแนวคิดโมเดลการสื่อสารสำหรับภาครัฐ และหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรในฝ่ายการประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กรของหน่วยงานที่เข้าร่วมอบรม ให้สามารถประยุกต์ใช้โมเดลเพื่อยกระดับการสื่อสารในแต่ละองค์กร โดยมี ดร.ธันยพร สุนทรธรรม ผู้ช่วยอธิการบดี (ฝ่ายการนักศึกษา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการ TUXSA MBA (Business Innovation) เป็นหัวหน้าโครงการ ผู้นำทีมวิจัยในการพัฒนาหลักสูตรพัฒนานักนวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐ COMMU MAX โดยหลักสูตรในครั้งนี้ เริ่มจากการบุคลากรภายในกระทรวง (อว.) และหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. ก่อน ถือเป็นหลักสูตรนำร่องซึ่งอาจพัฒนาต่อยอดไปสู่หน่วยงานภาครัฐในส่วนอื่นๆ ต่อไปโดยหลักสูตรพัฒนานักนวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐ COMMU MAX ในครั้งนี้ ประกอบด้วยกิจกรรม 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 การอบรมในรูปแบบ Workshop จำนวน 3 ครั้ง เพื่อวางรากฐานการวางแผนงานสื่อสารของหน่วยงานภาครัฐ โดยปรับเปลี่ยนแนวคิดจากการสื่อสารทางเดียวจากข้อมูลที่องค์กรต้องการบอกเล่า ให้เป็นการสื่อสารที่เชื่อมโยงกับความสนใจและรับฟังความคิดเห็นของผู้รับสาร หรือกลุ่มเป้าหมายเป็น สำคัญ มีการให้ความรู้และเสริมทักษะ ในการสร้างสรรค์สื่อที่มีคุณภาพ และสอดแทรกการใช้เทคโนโลยี AI และเครื่องมือ Social Listening เพื่อให้บุคลากรภาครัฐสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนที่ 2 มีการทดลองประยุกต์ใช้ความรู้มาพัฒนาการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบการแข่งขันโดยแบ่งกลุ่มผู้เข้าอบรมเป็น 10 กลุ่ม เพื่อทดลองผลิตและเผยแพร่ชิ้นงานจริง เป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยทีมที่ทำผลงานได้ดีที่สุด 3 อันดับ จะได้รับประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติจากทางกระทรวง (อว.) และได้ร่วมแสดงผลงานในงานวันปิดหลักสูตรต่อไปสำหรับการอบรมหลักสูตร Commu Max ในครั้งนี้ ได้ออกแบบให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ เน้นการลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเองทั้งรายบุคคลและกระบวนการกลุ่ม พร้อมนำเสนอและวิพากษ์ผลงาน เพื่อวัดผลสัมฤทธิ์จากการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรม จำนวน 90 คน ประกอบด้วยบุคลากรทั้งในระดับผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานต่างๆ ของหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวง (อว.) กว่า 30 หน่วยงาน หวังว่าทุกท่านจะสามารถใช้ความรู้และแนวคิดการประชาสัมพันธ์ที่ได้รับจากในโครงการนี้ ไปพัฒนาต่อยอดสื่อสารข้อมูลข่าวสารในการดำเนินงานโครงการต่างๆ ของแต่ละหน่วยงาน และเป็นบุคลากรคุณภาพที่ช่วยยกระดับการสื่อสารโดยรวมของกระทรวง (อว.) ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
ดร.ธันยพร สุนทรธรรม ผู้ช่วยอธิการบดี (ฝ่ายการนักศึกษา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการ TUXSA MBA (Business Innovation) หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า สำหรับหลักสูตรพัฒนานักนวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐ ที่เรียกว่า “COMMU MAX” นั้น เป็นการปรับแนวคิดและสร้างโมเดลการทำสื่อประชาสัมพันธ์หลักสูตรนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้และใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น AI และ Social Listening Tools เข้ามามีส่วนช่วยในการวางแผนและจัดทำสื่อเพื่อยกระดับให้งานประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานภาครัฐมีคุณภาพและประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นด้วยโดยจะเน้นผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้เน้นการลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเองสำหรับการอบรมหลักสูตรพัฒนานักนวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐ Commu Max ในครั้งนี้ ในฐานะหัวหน้าหลักสูตรและเป็นหนึ่งในบุคลากรของกระทรวง (อว.) ทีมนักวิจัยคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมในครั้งนี้ จะสามารถสื่อสารข้อมูลข่าวสารในการดําเนินงานโครงการต่างๆ เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์องค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถผลิตและเผยแพร่สื่อดิจิทัลในการประชาสัมพันธ์รวมทั้งสามารถใช้สื่อและสื่อสารมวลชนในยุคดิจิทัล เพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจและสามารถเข้าถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้อย่าง มีคุณภาพยิ่งขึ้น และสามารถนำผลจากการอบรมในครั้งแรกนี้ ไปให้พัฒนาต่อยอดหลักสูตร Commu Max ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป
ที่มา:ข่าวความมั่นคงออนไลน์