กรมวิทย์เผยโอมิครอน BA.2.75 ยังยึดไทย สภาการพยาบาลหวั่นผลกระทบต่ออายุวัคซีนไฟเซอร์

กรมวิทย์เผยโอมิครอน BA.2.75 ยังยึดไทย สภาการพยาบาลหวั่นผลกระทบต่ออายุวัคซีนไฟเซอร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล ทำหนังสือลงวันที่ 31 ม.ค.2566 เรื่องขอทักท้วงการกำหนดอายุวัคซีน 15 เดือนสำหรับวัคซีน Comirnaty เลขทะเบียน IC 8/64 (NBC) ส่งถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ด้วยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้อนุโลมให้บริษัทไฟเซอร์ขยายอายุวัคซีน จำนวน 8 รุ่นการผลิต ปริมาณนำเข้าทั้งสิ้น 4,891,524 โดส ซึ่งเป็นรุ่นการผลิตที่ปล่อยผ่านจากสถานที่ผลิตแล้วจากเดิมอายุยา 9 เดือน (วันหมดอายุ 30 ก.ย.2565) เป็น 15 เดือน (วันหมดอายุ 30 มี.ค.2566) สภาการพยาบาล เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2566 มีมติทำหนังสือทักท้วงเพื่อขอให้ทบทวนกรณีดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าวัคซีนที่หมดอายุที่ได้รับการขยายอายุผลิตภัณฑ์และนำไปฉีดให้แก่ประชาชนอาจจะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน

ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า การขยายอายุการใช้วัคซีนไฟเซอร์ จาก 9 เดือนเป็น 15 เดือน เป็นการพิจารณาจากข้อมูลวิชาการที่ผู้ได้รับอนุญาตนำข้อมูลความปลอดภัยจากผู้ผลิตวัคซีนมายื่นขอขยายอายุการใช้งาน หากเก็บในอุณหภูมิที่คงที่-60 องศา โดยเนื้อวัคซีนไม่ปนสิ่งแปลกปลอมหรือสภาพเปลี่ยนไปก็สามารถใช้ได้ ตอนนี้วัคซีนไฟเซอร์ยังไม่พบปัญหาใดๆ แม้ว่าจะมีการยืดอายุออกเป็น 15 เดือน

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า สายพันธุ์โควิดหลักที่ระบาดในไทยยังคงเป็นสายพันธุ์โอมิครอน BA.2.75 ส่วนสายพันธุ์ CH.1.1 เป็นลูกหลานของ BA.2.75 ซึ่งอาจจะหลบภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) พอสมควร และยังสามารถใช้ต่อไปได้ ส่วนการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ตามข้อกำหนดของประเทศปลายทาง คือ จีน อินเดีย เนปาล และเมียนมา เริ่มตรวจตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.-3 ก.พ.2566 ขณะนี้ตรวจ 2,022 คน พบคนไทยติดเชื้อ 1.79% คนจีนเฉลี่ย 4.2% และสัญชาติอื่นๆอีก 3.43% ทั้งหมดตรวจสายพันธุ์แต่ต้องใช้เวลาถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ทั้งนี้ กรมวิทย์มีแผนจะยกเลิกการตรวจเบื้องต้นซึ่งไม่จำเป็นแล้วในขณะนี้ แต่จะใช้วิธีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว

ขณะที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 สัปดาห์ที่ 5 วันที่ 29 ม.ค.-4 ก.พ.2566 สถานการณ์ดีขึ้น มีผู้ป่วยเข้า รพ. 252 คน, เสียชีวิต 17 คน ทั้งหมดเป็นกลุ่ม 608 ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับไม่ครบหรือรับเข็มกระตุ้นเกิน 3 เดือน ดังนั้น เข็มกระตุ้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับกลุ่ม 608 ซึ่งช่วงเวลานี้ควรนำผู้สูงอายุมารับวัคซีนก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์.

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,262 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *