ปิดศูนย์ฯ ตึกถล่ม วางกล้วยไม้ขาวไว้อาลัยเหยื่อ! ผู้ว่า สตง.ให้กรรมลงโทษคนผิด

ปิดศูนย์ฯ ตึกถล่ม วางกล้วยไม้ขาวไว้อาลัยเหยื่อ! ผู้ว่า สตง.ให้กรรมลงโทษคนผิด

กทม.ประกาศปิดศูนย์ฯเหตุอาคาร สตง.ถล่ม หลังภารกิจ ค้นหาเก็บกู้ซากเสร็จสิ้น จากนั้นร่วมกับเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องจัดพิธีทำบุญใหญ่ตักบาตรพระสงฆ์ 109 รูป และร่วมกันยืนไว้อาลัยก่อนวางดอกกล้วยไม้สีขาวรอบพื้นที่ “ผู้ว่าการ สตง.” มาร่วมพิธีทำบุญด้วยยันไม่เคยหนีความรับผิดชอบ ยึดตามกฎหมายและระเบียบตามหลักมาตรฐานวิศวกรรม ส่วนกฎแห่งกรรมใครทำอะไรไว้ต้องรับผลของการกระทำ ด้านตำรวจขออายัดพื้นที่อาคาร สตง.ถล่มถึงสิ้นเดือน พ.ค. รวมทั้งบริเวณกองซากปูน หลังศาลเยาวชนเพื่อเก็บหลักฐานเพิ่มเติม ด้านอธิบดี ปภ.เข้ารายงาน “นายกฯอิ๊งค์” ระบบ Cell Broadcast ผลน่าพอใจระบุนายกฯได้รับทั้ง 2 รอบ

กทม.ทำบุญปิดภารกิจค้นหาผู้ประสบภัยเหตุอาคารก่อสร้าง สตง.หลังใหม่ถล่ม เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 13 พ.ค. ที่อาคารหอประชุมพื้นที่โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ที่เกิดเหตุถล่มเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา กทม.ร่วมกับเจ้าหน้าที่ส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดพิธีทำบุญใหญ่นิมนต์พระภิกษุสงฆ์สายกรรมฐาน 109 รูป ทำพิธีสวดบำเพ็ญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิต เพื่อเป็นสิริมงคลให้แก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ มีสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยฝ่ายผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตจตุจักร เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ทหาร ตำรวจ ภาคเอกชน เจ้าหน้าที่อาสาที่เข้าร่วมภารกิจค้นหาผู้สูญหาย รวมทั้งประชาชนใกล้เคียงจำนวนมากมาร่วมพิธีอย่างเนืองแน่น ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปราย มีนายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการ สตง. ร่วมพิธีด้วย

ทั้งนี้ เมื่อนายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการ สตง. เข้ามาถึงบริเวณจัดงานมีสื่อมวลชนจำนวนมากกรูเข้าไปสัมภาษณ์ แต่นายมณเฑียรตอบเพียงว่า วันนี้มาทำบุญยังไม่ขอตอบถึงรายละเอียดต่างๆหลังจากนี้จะประชุม สตง. จะออกเป็นเอกสารชี้แจงอีกครั้ง ยืนยันว่าหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว อาคาร สตง.ถล่ม ตนและเจ้าหน้าที่ สตง.ที่เกี่ยวข้อง ได้ทำงานช่วยเหลือแต่เพียงไม่ได้ออกสื่อเท่านั้น จากนั้นนายมณเฑียรเดินเข้าไปกราบพระสงฆ์ และพูดคุยกับแขกที่มาร่วมพิธี

หลังเสร็จพิธีทำบุญ นายมณเฑียรให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่รุมล้อมเป็นจำนวนมากอีกครั้งว่า เหตุการณ์ตึกถล่มเป็นเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ได้แสดงความเสียใจตั้งแต่วันแรกๆแล้ว อีกทั้งในส่วนครอบครัวญาติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปทุกจังหวัด ทุกคนได้รับคำกล่าวขอโทษแล้ว เมื่อถามว่า ทำไมถึงนิ่งเฉย ผู้ว่าการ สตง.กล่าวชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้บอกไป 2-3 ครั้งแล้ว คดีความเรื่องนี้มีคณะกรรมการที่ดำเนินการอยู่หลายส่วน เช่น คณะกรรมการสอบสวนของรัฐบาลเป็นคณะหลักที่จะสอบสวนหลายด้านที่ครอบคลุมทั้งด้านวิศวกรรมวิทยาศาสตร์ คงต้องรอผลสอบสวนจากคณะกรรมการชุดนี้ เนื่องจากมีผู้ทรงคุณวุฒิในหลายด้าน และของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ดูในเรื่องของนอมินี-ฮั้วประมูล ชุดพนักงานสอบสวนดูในเรื่องของคดีอาญา ผู้เสียชีวิต และยังมีชุดกรรมาธิการอีกหลายชุด ที่ผ่านมาเรียกสอบไปกว่า 10 คณะเป็นเรื่องของการชี้แจงข้อเท็จจริง รวมถึง ป.ป.ช.ด้วย และคณะกรรมการสอบสวนตามกฎหมายของ สตง.ที่ตั้งขึ้นมาสอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้น เนื่องจาก สตง.เป็นองค์กรอิสระ ชุดคณะกรรมการ สตง.ได้เริ่มขอเอกสาร และเข้าตรวจสอบบ้างแล้ว ขอย้ำว่า ทั้งหมดเป็นกระบวนการทางกฎหมาย สตง.พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกคณะ และยอมรับผลการตรวจสอบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นผลการสอบสวนทางวิทยาศาสตร์หรือจากส่วนอื่น ยืนยันยินดีให้ความร่วมมือและยอมรับผลการสอบสวนทุกกรณี

เมื่อถามว่า รู้เรื่องที่เกิดขึ้นรวมถึงการแก้แบบการก่อสร้างต่างๆ นายมณเฑียรกล่าวว่า เพิ่งรับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งมาไม่ถึงปี กระบวนการที่เกิดขึ้นเกิดก่อนหน้าตั้งแต่ พ.ศ.2561 หากคณะกรรมการชุดไหนเรียกสอบข้อเท็จจริงต่างๆ ก่อนหน้านี้จะส่งเจ้าหน้าที่ที่ดูเรื่องนี้ไปชี้แจงและตอบคำถามในฐานะผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง ส่วนตนเพิ่งเข้ารับตำแหน่งจะตอบในส่วนที่รับผิดชอบ ส่วนการแก้ไขแบบต่างๆต้องไปถามผู้รับผิดชอบ เมื่อถามอีกว่า กรณีบริษัทอิตาเลียนไทยระบุถึงการแก้ไขแบบต่างๆรวมถึงแก้แบบปล่องลิฟต์ มาจากการปรับลดงบประมาณ สตง. นายมณเฑียรกล่าวว่า ไม่เป็นความจริง ตามกฎหมายและระเบียบการแก้ไข เราจ้างคนมาออกแบบเป็นหลักทางวิศวกรรม ใครก็ตามที่ออกแบบแล้วจะแก้ไขแบบต้องได้รับความยินยอมจากผู้ออกแบบเป็นหลักการตามปกติ

“ใครจะพูดอะไรก็ได้ แต่เรายึดหลักการทางกฎหมายและระเบียบ ยึดตามหลักมาตรฐานวิศวกรรม เราไม่เอาตามความรู้สึกใครในสิ่งที่เขาพูดมา ทุกคนพยายามที่จะกระโดดหมด ใครก็ตามที่จะหนี หนีไม่พ้นกฎแห่งกรรม ใครทำอะไรไว้ก็จะต้องรับผลของการกระทำ” นายมณเฑียรกล่าวก่อนเดินทางกลับ

จากนั้นเวลา 09.45 น. รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำคณะผู้บริหารศูนย์บัญชาการเหตุการณ์สำนักงานเขตจตุจักร ร่วมกับ เจ้าหน้าที่กู้ภัย USAR จากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กองทัพ ภาคที่ 1 กองทัพอากาศ กองทัพเรือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย มูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และทีมอาสาสมัครภาค ประชาชน ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ปฏิบัติการอาคาร สตง.ถล่มได้ร่วมทำพิธีไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ ดังกล่าว ด้วยการร่วมกันยืนไว้อาลัยและวางดอกกล้วยไม้ สีขาวรอบพื้นที่ที่เกิดเหตุ ก่อนยุติภารกิจค้นหาผู้สูญหาย และรื้อถอนซากอาคาร สตง.อย่างเป็นทางการ

ต่อมา เวลา 11.20 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลง ปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์สำนักงานเขตจตุจักรที่ตั้งขึ้นเพื่อจัดการสถานการณ์อาคารก่อสร้างสำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถล่มหลังเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. โดยภารกิจค้นหาผู้รอดชีวิตและ เก็บกู้ซากอาคารได้เสร็จสิ้นลงแล้ว

น.ส.ภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ กล่าวว่า ศูนย์ฯจะประกาศปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 พ.ค. เวลา 16.00 น. หรือได้ปฏิบัติการมาเป็นเวลา 48 วัน หลังเสร็จสิ้นการขนย้ายซากคอนกรีตและการค้นหาผู้รอดชีวิต ขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ที่ต้องใช้ถนนกำแพงเพชร 2 ช่วงวันที่ 13-15 พ.ค.พิจารณาหลีกเลี่ยงเส้นทาง เนื่องจากมีการขนย้ายตู้คอนเทนเนอร์และเครื่องจักรหนักออกจากพื้นที่จะทำให้การสัญจรไม่สะดวก พร้อมกล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนที่ร่วมปฏิบัติภารกิจจนลุล่วง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า หลังจากนี้จะส่งหนังสือแจ้งปิดภารกิจไปยังหน่วยงาน ต่างๆที่ กทม. ขอความร่วมมือ และแจ้งคณะกรรมการสอบสวนทางคดีว่าภารกิจหลักของ กทม.สิ้นสุดลงแล้ว หากมีหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือต่อเนื่อง กทม.ยังคงพร้อมให้การสนับสนุน เช่น ห้องน้ำสาธารณะ หรือเครื่องสูบน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกในพื้นที่โดยรอบ

ขณะที่ รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงการช่วยเหลือประชาชนว่า ได้ปิดรับการร้องขอ ความช่วยเหลือจาก 50 เขตแล้ว เมื่อวันที่ 2 พ.ค. มีผู้ยื่นเรื่องประมาณ 40,000 ราย ส่วนใหญ่ขอรับเงิน เพื่อซ่อมแซมบ้านเรือน ยอดการช่วยเหลือผู้ประสบภัย อยู่ที่ 176 ล้านบาท สำหรับค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงาน เช่น ค่าน้ำมันเครื่องจักรในพื้นที่อาคารถล่ม อยู่ที่ ประมาณ 3,000 ลิตรต่อวัน โดยเฉพาะรถเครนมีค่าใช้จ่ายน้ำมันวันละประมาณ 200,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ยังไม่รวมค่าซ่อมบำรุงอุปกรณ์ที่เสียหายระหว่างปฏิบัติงาน ทั้งนี้ กทม.ได้ทำเรื่องขอสนับสนุนค่าจ้างผู้ประกอบการเอกชน และขอความ ช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบสองฝั่งถนนที่เกิดเหตุแล้ว ในแต่ละวันมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในส่วนอาคารถล่มประมาณ 600-800 คน หากรวมพื้นที่โดยรอบจะมีเจ้าหน้าที่นับพันคนสะท้อนถึงความร่วมมือร่วมใจที่เข้มแข็งของทุกฝ่าย

ด้าน พล.ต.ต.วาที อัศวุตมางกุร ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานกลาง (พฐก.) เผยความคืบหน้า ด้านการพิสูจน์หลักฐานว่า สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ รับร่างผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 89 ราย มี 80 ที่เป็น สภาพร่างและเป็นอวัยวะอีก 9 ราย พิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลได้ 72 ราย จะส่งคืนร่างผู้เสียชีวิต 86 ราย ในวันนี้เวลา 15.00 น.เป็นต้นไป ส่วนที่เหลือเป็นชิ้นส่วนที่ยังระบุตัวตนไม่ได้ บางรายครอบครัวอยู่ ต่างประเทศ (เมียนมา) ยังไม่สามารถส่ง DNA มา เปรียบเทียบได้ ส่วนวัตถุพยาน พฐก. ได้เก็บตัวอย่าง เหล็ก 366 เส้น และคอนกรีตกว่า 200 ชิ้น จากอาคาร ที่ถล่ม รวมถึงแท่งคอนกรีตจากส่วนที่ไม่ถล่ม เช่น โถงทางเดิน ลิฟต์ และบันไดหนีไฟ หลังวันที่ 15 พ.ค. สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะอายัดสถานที่เกิดเหตุ 2 ส่วน คือ พื้นที่อาคารที่ถล่มจะอายัดถึงวันที่ 31 พ.ค. และกองซากอาคารและพัสดุของอาคาร สตง.ด้านหลัง ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จะอายัดถึงวันที่ 20 พ.ค. เพื่อให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นคณะทำงานที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้น เก็บพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อสืบสวนสาเหตุการถล่มต่อไป จากนี้การ เข้าพื้นที่ในช่วงอายัดจะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ

พล.ต.ต.วิฬุรห์ ศุภสิงห์ศิริปรีชา ผบก.นต. กล่าวว่า ขณะนี้สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ รอให้หน่วยกู้ภัยหยุดค้นหาร่างผู้สูญหายก่อน เพราะชิ้นส่วนอวัยวะที่มีอยู่กว่า 300 ชิ้น พิสูจน์ทราบไปหมดแล้ว ต้องมาประเมินอีกครั้งว่า ชิ้นส่วนที่พบหากไม่เต็มร่างแต่มีเปอร์เซ็นต์มากเกิน 50% ก็สามารถยืนยันได้ว่าเป็น 1 ร่าง สามารถปล่อยศพให้ญาติรับกลับไปบำเพ็ญกุศลได้เลย จากชิ้นส่วนกว่า 300 ชิ้น นำมาประกอบเป็นร่างได้ 8 ร่าง ที่ญาติจะมาติดต่อรับไปได้ ขณะนี้มีร่างสมบูรณ์อีกประมาณ 10 ร่าง ที่รอญาติมาติดต่อรับตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุสามารถพิสูจน์ทราบแล้ว 72 ร่าง ญาติรับกลับไปแล้ว 64 ร่าง คงเหลืออีก 1 ร่างที่ดีเอ็นเอไม่ตรงใครเลย อาจเป็นไปได้ที่ญาติอาจจะยังไม่ทราบหรืออาจเป็นแรงงานเถื่อน จะต้องประชุมกันอีกครั้งเพราะทราบว่าหน่วยกู้ภัยหยุดค้นหาร่างแล้ว หากเราปิดเคสนี้ได้ทั้งหมด ประกอบชิ้นส่วนได้ครบ แล้วมาเจอชิ้นส่วนเพิ่มจะทำให้เกิดความสับสนได้ ผลการตรวจดีเอ็นเอของทุกชิ้นส่วนถูกเก็บไว้ในระบบเรียบร้อย หากถึงที่สุดแล้วไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นใคร หรือยังไม่มีญาติมาติดต่อรับจะนำชิ้นส่วนมาพิจารณาทำพิธีทางศาสนาทำบุญร่วมกันต่อไป

อีกด้านหนึ่ง เมื่อเวลา 14.06 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภาสกร บุญญลักษณ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และตัวแทนผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ เข้าพบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บนตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อรายงานผลการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติผ่านสัญญาณโทรศัพท์ หรือ Cell Broadcast หลังจากเมื่อเวลา 13.00 น. ปภ.ทดสอบระบบ Cell Broadcast ใน จ.เชียงใหม่ อุดรธานี พระนครศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร ก่อนที่เวลา 14.06 น. จะทดสอบระบบอีกครั้งเฉพาะที่ทำเนียบฯ สัญญาณดังขึ้นช่วงที่นายภาสกรเข้าไปรายงานนายกฯพอดี

นายภาสกรเผยหลังเข้ารายงานนายกฯว่า วันนี้เป็นการทดสอบระบบ Cell Broadcast ขนาดใหญ่เป็นที่น่าพอใจ สัญญาณที่ส่งไปในเวลาไม่เกิน 30 วินาทีทุกค่ายมือถือ และยังได้ทำแบบสอบถามใน 2 รอบก่อนหน้านี้ในรูปแบบออนไลน์ ประชาชนส่วนใหญ่ 90% ได้รับสัญญาณครบถ้วน อีก 10% ไม่ได้รับ เนื่องจากเป็นไปตามเงื่อนไขของผู้ให้บริการในเรื่องระบบ 2 จี 3 จี หรือคุณสมบัติไม่สอดคล้องกับการส่งสัญญาณ Cell Broadcast ดังนั้น เมื่อเกิดสาธารณภัย ปภ.จะนำระบบ Cell Broadcast มาใช้ร่วมกับการส่งข้อความสั้น ประชาชนที่อยู่ในกลุ่ม 2 จีและ 3 จี จะรับข้อความในเวลาไม่เกิน 10 นาที นอกจากนี้ ปภ.ยังพัฒนาระบบเชื่อมไปถึงสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ระบบรถไฟใต้ดิน และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยจะเชื่อมสัญญาณให้แล้วเสร็จ คาดว่าจะสมบูรณ์ไม่เกินเดือน ก.ค.นี้ ในส่วนของทำเนียบรัฐบาลที่ได้รับสัญญาณ Cell Broadcast อีกรอบ เป็นการปล่อยสัญญาณเข้ามาในพื้นที่

เมื่อถามว่านายกฯได้รับข้อความหรือไม่ นายภาสกรกล่าวว่า นายกฯได้รับข้อความทั้ง 2 ครั้ง ครั้งแรกนายกฯเตรียมตัวไม่ทัน ขอให้ปล่อยสัญญาณเพิ่มเติม จึงขอผู้บริการทั้ง 3 ค่ายมือถือปล่อยสัญญาณเข้ามาใหม่ในทำเนียบฯโดยตรง เมื่อถามว่านายกฯกำชับอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ อธิบดี ปภ.กล่าวว่า นายกฯได้ขอบคุณผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือทั้ง 3 ค่าย เมื่อถามอีกว่าจะพัฒนาระบบอย่างไรให้ประชาชนได้รับ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีบางพื้นที่ยังไม่ได้รับ อธิบดี ปภ. กล่าวว่า อุปกรณ์เสาอากาศและอุปกรณ์ภาคพื้นดินที่ใช้ส่งสัญญาณโทรศัพท์ (Cell Site) ของผู้ให้บริการถ้าเป็นภูมิภาคอาจจะไม่เต็มพื้นที่เพราะบางพื้นที่อาจติดเรื่องภูเขาทำให้สัญญาณไปไม่ถึง

ที่มา ไทยรัฐ

ผู้นำเสนอข่าว

yoko

Written by:

4,212 Posts

View All Posts
Follow Me :

You May Have Missed