คณะนักวิจัยจีนค้นพบฟอสซิลดอกไม้หายากในเขตอุทยานธรณีแห่งชาติยุคครีเทเชียส เมืองไหลหยาง คาดเป็นดอกไม้พันธุ์ใหม่ในกลุ่มพืชดอกยุคครีเทเชียสตอนต้น ซึ่งมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการศึกษาวิวัฒนาการของพืชดอกในยุคโบราณ
ศาสตราจารย์เฉิน เหล่ย จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซานตง ซึ่งเป็นสมาชิกคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านซากดึกดำบรรพ์แห่งประเทศจีน ระบุว่าซากฟอสซิลดอกไม้นี้อาจเป็นพืชดอกสายพันธุ์ใหม่ในยุคครีเทเชียสตอนต้น ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาวิวัฒนาการของพืชดอกและเข้าใจต้นกำเนิดของพืชดอกในระยะแรกเริ่ม
โดยฟอสซิลดอกไม้ที่พบมีสภาพสมบูรณ์อย่างน่าทึ่ง ไม่เพียงแต่ยังคงชั้นผิวใบไว้ได้อย่างชัดเจน แต่ยังแสดงโครงสร้างที่คล้ายกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ขณะที่บริเวณรังไข่มีจุดสีดำซึ่งคาดว่าอาจเป็นเมล็ดของพืชชนิดนี้
นักวิทยาศาสตร์เตรียมดำเนินการศึกษาเพิ่มเติม ทั้งด้านลักษณะทางสัณฐานวิทยา ของโครงสร้างที่คล้ายดอกไม้ และการวิเคราะห์โครงสร้างชั้นผิวใบในระดับจุลภาค เพื่อไขปริศนาธรรมชาติที่แท้จริงของพืชลึกลับชนิดนี้
ทั้งนี้ เมืองไหลหยาง ถือเป็นพื้นที่สำคัญด้านบรรพชีวินวิทยาของจีน โดยเป็นหนึ่งในภูมิภาคแรก ๆ ที่มีการค้นพบซากไดโนเสาร์ ไข่ไดโนเสาร์ ฟอสซิลเทอโรซอร์ แมลง และพืชโบราณจำนวนมากในประเทศจีน.
ที่มา ไทยรัฐ