แพทย์เตือน 7 วัน ผู้ป่วยโควิดพุ่งกว่า 8 พันราย เด็ก 0-4 ปี ป่วยกันเยอะ พร้อมเทียบอาการ “โควิด-19” กับ “ไข้หวัดใหญ่” เช็กชัดๆ อาการแบบไหน ป่วยเป็นโรคอะไร
กลายเป็นเรื่องราวที่ถูกพูดถึงอย่างมาก เมื่อ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ ได้โพสต์ข้อความถึงสถานการณ์โรค “โควิด-19” โดยระบุว่า “27 เมษายน-3 พฤษภาคม 2568 ตัวเลขในระบบโควิด-19 รายงานไว้ 8,446 ราย ที่ป่วยไป รพ. ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ไม่รวมคนที่ติดเชื้อแล้วไม่ได้ไปรักษาที่ รพ. จะเห็นว่าป่วยกันทุกช่วงอายุ ที่น่าเป็นห่วงคือเด็กเล็ก 0-4 ปี ก็ป่วยกันเยอะทีเดียว ไม่ใช่แค่วัยทำงานและวัยสูงอายุ กทม. เคสเยอะสุด เดี๋ยวเปิดเทอม ผู้ปกครองและคุณครูคงต้องช่วยกันดูแลเด็กๆ ให้ดี”

ทั้งนี้ ยังได้เผยข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า “ลองดูสถานการณ์ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ข้อมูลสัปดาห์ที่ 19 ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. 2568 จนถึงปัจจุบัน คนป่วยจากโควิด-19 สูงกว่าไข้หวัดใหญ่ถึง 2 เท่า เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย หากใครมีอาการป่วยตอนนี้ แต้มต่อในการเป็นโควิด-19:ไข้หวัดใหญ่ = 2:1 หรือแทงว่าน่าจะมีโอกาสเป็นโควิด-19 ราว 67% ในขณะที่หากย้อนดู 2 สัปดาห์ จะพบว่าโควิด-19 เสียชีวิตไป 2 ราย ไข้หวัดใหญ่ไม่มีเสียชีวิต และหากย้อนดู 4 สัปดาห์ โควิด-19 เสียชีวิตไป 5 ราย ไข้หวัดใหญ่ 2 ราย ตัวเลขป่วยในระบบข้างต้นไม่นับคนที่ไม่ได้มารับการรักษาที่ รพ.”
ล่าสุด วันที่ 8 พ.ค. 2568 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ได้โพสต์ข้อความเรื่อง “โควิด-19 vs ไข้หวัดใหญ่ ในกรุงเทพมหานคร” โดยระบุว่า “ดูข้อมูลจากระบบรายงานเช้านี้ ในช่วง 4 วันที่ผ่านมา สัปดาห์ที่ 19 ปี 2568 น่าสนใจว่ามีเคสที่ป่วยมารับการรักษาที่ รพ. (ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก) โดยเป็นโรคโควิด-19 มากกว่าไข้หวัดใหญ่ 6.7 เท่า โควิด-19 นั้น เพศหญิงเยอะกว่าชายราว 2 เท่า
ส่วนไข้หวัดใหญ่ หญิงชายพอๆ กัน ในกลุ่มที่เป็นโควิด-19 มีเด็กเล็ก 0-4 ปีในสัดส่วนราว 5% ของจำนวนเคสที่รายงานทั้งหมด ในขณะที่กลุ่มที่เป็นไข้หวัดใหญ่นั้น เด็กเล็ก 0-4 ปีมีราว 13% กลุ่มวัยทำงานถือเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มากที่สุดในทั้งสองโรคด้วยทิศทางนี้ พอประเมินกันได้เองว่า หากป่วยตอนนี้มีโอกาสเป็นโควิด-19 สูงกว่าไข้หวัดใหญ่พอสมควร”
เทียบอาการ “โควิด-19” VS “ไข้หวัดใหญ่”
โควิด-19
อาการ : มีไข้ ไอ เจ็บคอ ท้องเสีย อ่อนเพลีย จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส มีผื่นบนผิวหนัง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ระคายเคืองตา โดยอาการอาจแตกต่างกันแต่ละบุคคล ซึ่งผู้ป่วยอาจมีแค่บางอาการ
แนะนำ : ตรวจ ATK เมื่อมีอาการ, ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19
วิธีป้องกัน : สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ไม่สัมผัสใบหน้า หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วย
ไข้หวัดใหญ่
อาการ : มีไข้ทันที ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย อาจพบอาการคัดจมูก เจ็บคอ โดยอาการอาจแตกต่างกันแต่ละบุคคล ซึ่งในรายที่อาการรุนแรง อาจมีหลอดลมอักเสบ ปอดบวม
แนะนำ : 7 กลุ่มเสี่ยงควรฉีดวัคซีน
วิธีป้องกัน : สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ไม่สัมผัสใบหน้า หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วย.
ขอบคุณเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/