นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิด พร้อมเดินหน้ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในทุกมิติ ทั้งด้านการตลาด การลดต้นทุนผลิต และการรักษาเสถียรภาพราคา โดยเน้นพืชสำคัญ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลไม้ โดยในส่วนของข้าว ได้ดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้น เพื่อดึงราคาข้าวเปลือก ได้แก่ เปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกนาปรังในหลายจังหวัด เช่น อยุธยา สุพรรณบุรี และเชียงราย เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายและสร้างรายได้ที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกร
นอกจากนี้ ยังได้จัดตลาดนัดข้าวเปลือก ทั้งข้าวเปลือกนาปรังและนาปี ที่เก็บเกี่ยวหมดแล้ว โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 6,800 ราย แบ่งเป็นตลาดนัดข้าวเปลือกนาปรังใน 9 จังหวัด รวม 21 ครั้ง ซึ่งรับซื้อในราคานำตลาด 100-200 บาท/ตัน รวมปริมาณกว่า 14,000 ตัน มูลค่าเกือบ 100 ล้านบาท ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ปลูกข้าวนาปรัง ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ(นบข.) แล้วนั้น ต้องรอการขึ้นทะเบียนเกษตรกรให้เสร็จสิ้นก่อน โดยจะสิ้นสุดวันที่ 30 เม.ย.นี้
ขณะที่ข้าวเปลือกนาปี ได้จัดตลาดนัดข้าวเปลือกแล้วใน 24 จังหวัด รวม 32 ครั้งมียอดซื้อขายกว่า 422,000 ตัน มูลค่ากว่า 254 ล้านบาท พร้อมดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขาย โดยให้เงินช่วยเหลือ 1,500 บาท/ตัน แก่เกษตรกรที่มียุ้งฉาง มีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 324,000 ราย รวมข้าวที่รับฝากกว่า 2.5 ล้านตัน สนับสนุนสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ย 3.5% จากอัตรา 4.5% ล่าสุด รวบรวมผลผลิตได้กว่า 580,000 ตัน และชดเชยดอกเบี้ยให้กับโรงสีที่เก็บสต๊อกข้าวรวมสูงสุดกว่า 2.2 ล้านตัน
สำหรับการสนับสนุนข้าวเปลือกนาปีนั้น รัฐบาลได้ดำเนินโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ให้เกษตรกรแล้วกว่า 4.5 ล้านครัวเรือน รวมเป็นเงินกว่า 36,000 ล้านบาท พร้อมเตรียมมาตรการลดต้นทุนการผลิตในฤดูการผลิตถัดไป โดยเฉพาะลดราคาปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืช ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สนับสนุนสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปี 67/68 วงเงินสินเชื่อ 143 ล้านบาท มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก วงเงินสินเชื่อ 0.23 ล้านบาท และบริหารจัดการการนำเข้า ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ภาษี 0% และการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วน
ส่วนมันสำปะหลัง ได้เปิดจุดรับซื้อ 34 จุด ใน 8 จังหวัด เพิ่มการใช้มันเส้นและกากมันในประเทศ 2.5 ล้านตัน หัวมันสดชดเชยดอกเบี้ย 3% สำหรับเก็บสต๊อกระยะ 2-6 เดือน รวมถึงส่งเสริมสินเชื่อเพื่อรวบรวมและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คิดดอกเบี้ย 4.5% ขณะที่ผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน ได้ดำเนินมาตรการ เช่น ตั้งชุดเฉพาะกิจเจรจาการค้ากับจีน กระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต รณรงค์บริโภคในประเทศ สนับสนุนค่าบริหารจัดการผลไม้เพื่อการส่งออก ส่งเสริมการแปรรูป เชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า คาดว่าจะรองรับผลผลิตทุเรียนได้รวมกว่า 470,000 ตัน
“กระทรวงพาณิชย์ติดตามการส่งออกทุเรียนใกล้ชิด และเตรียมหารือกับเอกอัครราชทูตจีนในไทยในเร็วๆนี้ เพื่อเสริมความมั่นใจให้กับตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก พร้อมประสานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบสารตกค้าง ป้องกันปัญหาที่อาจกระทบต่อภาพลักษณ์และศักยภาพการส่งออกทุเรียนไทย”
นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงกรณีที่สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ขึ้นราคาแนะนำไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม จากฟองละ 3.20 บาท เป็นฟองละ 3.40 บาทว่า มาจากอากาศร้อนจัด ทำให้แม่ไก่ออกไข่น้อยลง และไข่มีขนาดเล็ก ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีภาระต้นทุนการใช้น้ำ-ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น จากการใช้อุปกรณ์ระบายความร้อนภายในฟาร์ม แต่กรมได้จัดจำหน่ายไข่ไก่ราคาต่ำกว่าท้องตลาด ผ่านรถโมบายธงฟ้า และงานธงฟ้าราคาประหยัด ทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงภูมิภาคต่างๆ เพื่อช่วยลดค่าครองชีพ ส่วนการติดตามการผลิตและการค้า พบว่าไม่ขาดแคลนแน่นอน เพราะไข่ไก่ออกสู่ตลาด 44.52 ล้านฟอง/วัน ขณะที่มีการบริโภค เฉลี่ย 43.30 ล้านฟอง/วัน.
ที่มา ไทยรัฐ