“แพทองธาร” อาลัย “ธานินทร์ กรัยวิเชียร” อดีตนายกฯ-อดีตองคมนตรี ถึงแก่อสัญกรรม

“แพทองธาร” อาลัย “ธานินทร์ กรัยวิเชียร” อดีตนายกฯ-อดีตองคมนตรี ถึงแก่อสัญกรรม

“นายกฯ แพทองธาร” ร่วมแสดงความอาลัย “ธานินทร์ กรัยวิเชียร” อดีตนายกฯ และอดีตองคมนตรี ถึงแก่อสัญกรรม สิริอายุ 97 ปี

เมื่อเวลา 22.27 น. ของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ต่อการถึงแก่อสัญกรรมของ ศาสตราจารย์พิเศษ ธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตองคมนตรี ในรัชกาลที่ 9 สิริอายุ 97 ปี ว่า “ขอแสดงความเสียใจและขอไว้อาลัยต่อการถึงแก่อสัญกรรมของศาสตราจารย์พิเศษ ธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตองคมนตรี นับเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญอีกครั้งหนึ่งของสังคมไทย”

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 โดยมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ศาลาบัณณรศภาค วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร

ประวัติ “ธานินทร์ กรัยวิเชียร”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม ประวัติโดยสังเขปของ ศาสตราจารย์พิเศษ ธานินทร์ กรัยวิเชียร เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2470 ภูมิลำเนา ณ จังหวัดพระนคร สมรสกับ คุณหญิงคาเรน กรัยวิเชียร (สกุลเดิม แอนเดอเซ่น) มีบุตร-ธิดาด้วยกัน 5 คน สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รุ่น พ.ศ. 2479 ต่อมาในพ.ศ. 2491 ไปศึกษาวิชากฎหมายต่อที่ ณ วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร และ พ.ศ. 2496 เนติบัณฑิตอังกฤษจากสำนักอบรมศึกษากฎหมายของเนติบัณฑิตยสภา สำนักเกรย์สอินน์ ประเทศอังกฤษ

ธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีคนที่ 14 และอดีตองคมนตรี

ในช่วงชีวิตการทำงาน ศาสตราจารย์พิเศษ ธานินทร์ เคยเป็น ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเชียงใหม่, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, ศาสตราจารย์สอนวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ของไทย เมื่อช่วงวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2519 – 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 จากนั้นดำรงตำแหน่ง องคมนตรี ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2520 – 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559 และยังได้ดำรงตำแหน่งกรรมการตุลาการ กรรมการร่างกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงเป็นประธาน, รองประธานกรรมการ, กรรมการ อีกหลายคณะ

ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ของไทย ภายหลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินโดยการนำของ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ทำการรัฐประหารรัฐบาล หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 สาเหตุที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเนื่องจาก ขณะที่พลเรือเอกสงัด เข้าเฝ้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ทรงพระราชทานคำแนะนำแก่ พลเรือเอกสงัด ให้ปรึกษา ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา

ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ซื่อสัตย์สุจริตที่สุดคนหนึ่ง โดยภายหลังจากที่คณะปฏิวัติได้ทำการรัฐประหารแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี และได้ดำรงตำแหน่งนี้มาจนสิ้นรัชกาล เมื่อรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งจะปฏิบัติหน้าที่องคมนตรีในคราวเดียวกันไม่ได้ ดังนั้น คณะองคมนตรีจึงได้มีมติเลือก ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ ซึ่งเป็นผู้มีอาวุโสสูงสุด เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานองคมนตรี

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

4,015 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *