การปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลก จ่อแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ปี 2024

การปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลก จ่อแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ปี 2024

นักวิทยาศาสตร์เผยว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก รวมถึงจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล จะพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้

นักวิทยาศาสตร์เผยวันนี้ (13 พ.ย.) ว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก รวมถึงจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล จะพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ ส่งผลให้โลกออกนอกแนวทางในการป้องกันภาวะโลกร้อนที่รุนแรงยิ่งขึ้น

รายงานงบประมาณคาร์บอนทั่วโลก ซึ่งเผยแพร่ระหว่างการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ COP29 ของสหประชาชาติ ที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ระบุว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกจะอยู่ที่ 41,600 ล้านเมตริกตันในปี 2024 เพิ่มขึ้นจาก 40,600 ล้านตันในปีที่แล้ว

การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ โดยการปล่อยดังกล่าวจะอยู่ที่ 37,400 ล้านตันในปี 2024 เพิ่มขึ้น 0.8% ในปี 2023 ส่วนการปล่อยก๊าซที่เหลือมาจากการใช้ที่ดิน ซึ่งอยู่ในหมวดหมู่ที่รวมถึงการตัดไม้ทำลายป่าและไฟป่า รายงานดังกล่าวจัดทำโดยสถาบันมากกว่า 80 แห่ง โดยมีมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ในอังกฤษเป็นแกนนำ

ปิแอร์ ฟรีดลิงสเตน นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจากมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ ผู้เขียนหลักกล่าวว่า “เรายังไม่เห็นสัญญาณของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่จะเพิ่มสู่จุดสูงสุดในปี 2024” เขากล่าวว่า หากไม่มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกในทันทีและรวดเร็ว “เราจะมุ่งตรงไปที่เป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส และปล่อยให้มันเกิดขึ้นต่อไป”

ประเทศต่างๆ ร่วมตกลงกันภายใต้ข้อตกลงปารีสปี 2015 เพื่อพยายามหยุดยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะต้องมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็วในทุกๆ ปี ตั้งแต่ตอนนี้จนถึงปี 2030 และต่อจากนั้น

ในทางกลับกัน การปล่อยก๊าซจากเชื้อเพลิงฟอสซิลกลับเพิ่มขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การปล่อยก๊าซจากการใช้ที่ดินลดลงในช่วงเวลาดังกล่าวจนกระทั่งในปีนี้ เมื่อภัยแล้งรุนแรงในเขตป่าแอมะซอนทำให้เกิดไฟป่า ทำให้การปล่อยก๊าซจากการใช้ที่ดินรายปีเพิ่มขึ้น 13.5% เป็น 4,200 ล้านตัน นักวิทยาศาสตร์บางคนกล่าวว่า ความคืบหน้าที่ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า หมายความว่าเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสนั้น อาจไม่สามารถบรรลุได้จริงอีกต่อไป

ด้านผู้เขียนรายงานกล่าวว่า ข้อมูลการปล่อยมลพิษในปีนี้แสดงให้เห็นหลักฐานว่าบางประเทศมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในด้านพลังงานหมุนเวียนและรถยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าดังกล่าวกลับไม่สม่ำเสมออย่างมาก โดยการปล่อยมลพิษของประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยลดลง และการปล่อยมลพิษของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ยังคงเพิ่มขึ้น

ความตึงเครียดระหว่างประเทศต่างๆ ปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 12 พ.ย. ในที่การประชุม COP29 ในประเด็นที่ว่าใครควรเป็นผู้นำในการเปลี่ยนผ่านของโลกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งผลิตพลังงานประมาณ 80% ของโลก โดยประธานาธิบดีอิลฮัม อาลีเยฟ แห่งอาเซอร์ไบจาน เจ้าภาพการประชุม COP29 กล่าวหาประเทศตะวันตกว่าหน้าไหว้หลังหลอกที่สั่งสอนผู้อื่นในขณะที่ยังคงเป็นผู้บริโภคและผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลรายใหญ่

คาดว่าการปล่อยมลพิษในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ที่สุดของโลกจะลดลง 0.6% ในปีนี้ ขณะที่การปล่อยมลพิษของสหภาพยุโรปจะลดลง 3.8% ในขณะเดียวกัน การปล่อยมลพิษของอินเดียจะเพิ่มขึ้น 4.6% ในปีนี้ ซึ่งเกิดจากความต้องการพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นซึ่งขับเคลื่อนโดยการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ส่วนอัตราการปล่อยมลพิษในจีน ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ปล่อยมลพิษรายใหญ่ที่สุดและเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.2% ผู้เขียนรายงานระบุว่า อัตราการปล่อยมลพิษจากการใช้น้ำมันของจีนน่าจะถึงจุดสูงสุดแล้ว เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้ามีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น

อัตราการปล่อยมลพิษจากการบินและการเดินเรือระหว่างประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 7.8% ในปีนี้ เนื่องจากการเดินทางทางอากาศยังคงฟื้นตัวจากความต้องการที่ลดลงระหว่างการระบาดของโควิด-19.

ที่มา Reuters

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,713 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Have Missed