ในปี พ.ศ.2563 ภารกิจยานอวกาศฉางเอ๋อ–5 ของจีน ถือเป็นครั้งแรกที่มนุษย์เก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์ได้ในรอบ 44 ปี นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีนค้นพบว่าแร่ธาตุในดินบนดวงจันทร์มีไฮโดรเจนจำนวนมาก ซึ่งจะทำปฏิกิริยากับธาตุอื่นๆ เมื่อสัมผัสความร้อนที่อุณหภูมสูงมาก จนผลิตไอน้ำออกมา และหลังจากการวิจัยเชิงลึกและการตรวจสอบอย่างละเอียดซ้ำๆ เป็นเวลา 3 ปี นักวิทยาศาสตร์แดนมังกรก็ได้ค้นพบวิธีการใหม่ในการใช้ดินบนดวงจันทร์เพื่อผลิตน้ำในปริมาณมาก
ทีมวิจัยระบุว่า เมื่อดินบนดวงจันทร์ได้รับความร้อนที่อุณหภูมิ 1,000 องศาเซลเซียส ไฮโดรเจนและออกไซด์ของแร่เหล็กที่อยู่ภายใน จะทำปฏิกิริยาเคมีที่ก่อให้เกิดไอน้ำ โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการให้ความร้อนแก่ดิน ด้วยวิธีการใหม่นี้ ดินบนดวงจันทร์ 1 กรัม จะผลิตน้ำได้มากถึง 76 มิลลิกรัม นั่นหมายความว่าดิน 1,000 กิโลกรัมจะสามารถผลิตน้ำได้ประมาณ 51-76 กิโลกรัม เทียบเท่ากับน้ำดื่มขวดขนาด 500 มิลลิลิตรมากกว่า 100 ขวด หรือปริมาณการบริโภคน้ำดื่มต่อวันของผู้คน 50 คน
จีนหวังว่าการสำรวจดวงจันทร์เมื่อไม่นานมานี้และในอนาคต จะช่วยวางรากฐานให้กับการสร้างสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ (International Lunar Research Station-ILRS) อันเป็น โครงการริเริ่มที่จีนเป็นผู้นำร่วมกับรัสเซีย และจีนยังมีแผนที่จะทำการทดลองบนดวงจันทร์โดยใช้ภารกิจฉางเอ๋อ-8 ที่อาจปล่อยขึ้นไปภายในปี 2573 รวมถึงมีแผนสร้างสถานีวิจัยบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ภายในปี 2578 เพื่อใช้ทดลองทางวิทยาศาสตร์และพัฒนาทรัพยากร การจัดหาแหล่งน้ำซึ่งจะนำไปใช้ผลิตออกซิเจนและเชื้อเพลิง.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/