เดิมพันปกป้องชีวิตคนไทย “พิมพ์ภัทรา” ผนึกพันธมิตรควบคุมไซยาไนด์

เดิมพันปกป้องชีวิตคนไทย “พิมพ์ภัทรา” ผนึกพันธมิตรควบคุมไซยาไนด์

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)ได้กำหนดกรอบการควบคุมสารโปแตสเซียมไซยาไนด์ (potassium cyanide) ซึ่งสารดังกล่าวมีลักษณะเป็นของแข็ง ก้อนผลึก หรือผงสีขาว เมื่อเป็นของเหลวจะใสไม่มีสี กลิ่นคล้ายอัลมอนด์ เมื่อเจอกับความร้อน ทำให้เกิดก๊าซพิษ หากได้รับเข้าสู่ร่างกายจะรบกวนการทำงานของอวัยวะภายในจนเป็นอันตรายถึงชีวิต และมีการนำไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมชุบโลหะ และในห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ เช่น การนำไปทดสอบหาค่าความกระด้างของน้ำ เป็นต้น

ทั้งนี้ โปแตสเซียมไซยาไนด์ ไม่มีการผลิตในประเทศไทย โปแตสเซียมไซยาไนด์มีการควบคุมโดยหน่วยงานภาครัฐ 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ กรอ. โดย อย.กำหนดการควบคุมผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านเรือน หรือทางสาธารณสุข ที่มีเกลือของไซยาไนด์ ที่ละลายน้ำได้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้ามาในประเทศ ส่วน กรอ.ควบคุมสารโปแตสเซียมไซยาไนด์ ที่ความเข้มข้นมากกว่า 1 % โดยน้ำหนัก เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ประกอบด้วย 1.ผู้ประกอบการต้องขอขึ้นทะเบียน พร้อมระบุวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ และขออนุญาตก่อนนำเข้า โดยการพิจารณาอนุญาตเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่กำหนด ฯลฯ ที่ปรากฏในใบสำคัญการขึ้นทะเบียน

2.เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ในการนำเข้าต้องแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการนำเข้า ก่อนนำโปแตสเซียมไซยาไนด์ออกจากด่านศุลกากร เช่น ปริมาณการนำเข้า ลักษณะภาชนะบรรจุ สถานที่เก็บรักษา และกำหนดวันที่พาหนะ จะมาถึงด่านศุลกากร เป็นต้น โดยปัจจุบันกำหนดให้แจ้งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 3. กรณีครอบครองโปแตสเซียมไซยาไนด์เพื่อการใช้สอยส่วนบุคคล หรือใช้เพื่อการอุตสาหกรรม และกรณีครอบครองเพื่อการค้าปลีก ที่เก็บโปแตสเซียมไซยาไนด์และวัตถุอันตรายทุกชนิด ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตรายรวมกันไม่เกิน 1,000 กิโลกรัม ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตครอบครอง

ขณะเดียวกันจากเหตุการณ์ที่มีการนำโปแตสเซียมไซยาไนด์ ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ก่อให้เกิดผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งพบการจำหน่ายอย่างแพร่หลายในแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสารดังกล่าวได้โดยง่าย กรอ.จึงดำเนินการเพื่อควบคุมวัตถุอันตราย จำพวกสารประกอบไซยาไนด์ อาทิ 1.จัดทำหนังสือถึงผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตนำเข้าวัตถุอันตรายจำพวกสารประกอบไซยาไนด์ และมีการนำเข้าสารดังกล่าวในปี 2565-2566 จำนวน 37 ราย เพื่อควบคุมการจำหน่าย และการใช้สารประกอบไซยาไนด์ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งหรือระบุ ในใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย 2.ขอความร่วมมือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กำหนดมิให้มีการโฆษณาและจำหน่ายวัตถุอันตรายจำพวกสารประกอบไซยาไนด์เพิ่มเติม 13 รายการ เช่น โกลด์โปแตสเซียมไซยาไนด์ในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ.

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,490 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *