สำนักงานบริการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส แห่งสหภาพยุโรป ระบุว่าอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยทั่วโลก พุ่งสูงทำลายสถิติถึง 2 ครั้ง ในเวลาเพียง 2 วัน
สำนักงานบริการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส หรือ C3S แห่งสหภาพยุโรป ระบุว่าอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยทั่วโลก พุ่งสูงทำลายสถิติถึง 2 ครั้ง ในเวลาเพียง 2 วัน หลังจากเมื่อวันจันทร์ (22 ก.ค.) อุณหภูมิอากาศพื้นผิวเฉลี่ยทั่วโลกสูงถึง 17.15 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติ 17.09 องศาฯ ของวันอาทิตย์ และทำลายสถิติของเดือนกรกฎาคม 2566 และอาจทำลายสถิติอีกครั้งในสัปดาห์นี้
นายคาร์โล บวนเทมโป ผู้อำนวยการ C3S กล่าวว่า ในขณะนี้หากเป้าหมายคือการรักษาสัญญาที่ระบุไว้ในความตกลงปารีส ปี 2558 ที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในศตวรรษนี้ให้ต่ำกว่า 2 องศาฯ เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และพยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาฯ เรื่องนี้จึงไม่ใช่ข่าวดีเพราะในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเกิน 1.5 องศาฯ แล้ว
นายบวนเทมโป กล่าวว่า โดยทั่วไปเดือนกรกฎาคมถือเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในโลก แม้ว่าปี 2567 จะมีอากาศร้อนมาก แต่สิ่งที่เริ่มเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ก็คือ ฤดูหนาวที่อุ่นกว่าปกติในทวีปแอนตาร์กติก โดยมีอุณหภูมิ 6 ถึง 10 องศาฯ ซึ่งนับอุ่นกว่าปกติ และสิ่งเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นในเขตซีกโลกใต้เมื่อปีที่แล้ว หลังอากาศร้อนทำลายสถิติเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม
องค์การอนามัยโลกระบุว่า ในปี 2543-2562 มีผู้เสียชีวิตจากความร้อนเกือบ 500,000 คนทั่วโลกในแต่ละปี ด้านสำนักงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า สถานที่มากกว่า 1,600 แห่งทั่วโลก ร้อนทำลายสถิติในช่วง 7 วันที่ผ่านมา
จีนออกประกาศเตือนภัยความร้อนในสัปดาห์นี้ โดยพื้นที่ภาคกลางและตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาฯ ส่วนรัสเซียกำลังต่อสู้กับไฟป่าในเขตไซบีเรีย ด้านสเปนและกรีซก็ต้องเผชิญกับอุณหภูมิร้อนจัดมาหลายวันเช่นกัน ขณะที่ในสหรัฐฯ ผู้คนมากกว่า 40 ล้านคน เผชิญกับอากาศร้อนจัด และไฟป่าได้ปะทุขึ้นในพื้นที่ทางตะวันตกของประเทศ
ทั้งนี้ อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกมักจะสูงสุดในเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคมในช่วงฤดูร้อนในเขตซีกโลกเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่แผ่นดินขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐฯ หรือรัสเซีย ซึ่งร้อนขึ้นเร็วกว่าเขตซีกโลกใต้ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยมหาสมุทร
นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศกล่าวว่า นี่อาจร้อนที่สุดในรอบ 120,000 ปี เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ แม้ว่านักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถแน่ใจได้ว่าที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา เป็นวันที่ร้อนที่สุดในช่วงเวลานั้น แต่อุณหภูมิเฉลี่ยในระยะยาวไม่ได้สูงเช่นนี้มาก่อน นับตั้งแต่ก่อนที่มนุษย์จะพัฒนาการเกษตรกรรม.
ที่มา AP
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/