มนุษย์เดนิโซวาน (Denisovans) เป็นมนุษย์โบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้ว เคยอาศัยอยู่ในช่วงเวลาและสถานที่เดียวกันกับมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล (Neanderthals) และมนุษย์โฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) ซากเดนิโซวานพบไม่กี่ชิ้นข้อมูลจึงมีน้อย ทว่ายังมีหลักฐานชี้ว่าเดนิโซวาน ผสมพันธุ์กับนีแอนเดอร์ทัลและโฮโมเซเปียนส์
ล่าสุด ทีมวิจัยซึ่งนำโดยนักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยหลานโจว ในจีน มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ในเดนมาร์ก สถาบันวิจัยที่ราบสูงทิเบต และมหาวิทยาลัยเรดดิ้งในอังกฤษ เผยผลการตรวจสอบด้วยเทคนิค Zooar chaeology by Mass Spectrometry กับโครงกระดูกกว่า 2,500 ชิ้น พบในถ้ำหินปูนไป่ฉีอา ที่ระดับความสูง 3,280 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล บนที่ราบสูงทิเบต ซึ่งเป็น 1 ใน 2 แห่งเท่านั้นที่นักมานุษยวิทยารู้ว่าเคยมีมนุษย์เดนิโซวานอาศัยอยู่ การวิเคราะห์ชุดใหม่เผยแพร่ลงวารสารเนเจอร์ระบุว่าฟอสซิลเดนิโซวานที่พบได้ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับความสามารถของสายพันธุ์มนุษย์กลุ่มนี้ ในการเอาชีวิตรอดในสภาพภูมิอากาศที่ผันผวน เผชิญกับยุคน้ำแข็ง และอาศัยบนที่ราบสูงทิเบตเมื่อราว 200,000-40,000 ปีก่อน
ทีมวิจัยเผยว่า มนุษย์เดนิโซวาน ล่า สังหาร และบริโภคสัตว์หลายสายพันธุ์ กระดูกสัตว์ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ประเภทแกะที่เรียกว่าบาราล จามรีป่า ม้า แรดขนยาวที่สูญพันธุ์ไปแล้ว และไฮยีนาลายจุด รวมถึงชิ้นส่วนกระดูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น มาร์มอต นก การวิเคราะห์อย่างละเอียดที่พื้นผิวกระดูกสัตว์ชี้ว่าเดนิโซวานได้นำเนื้อและ ไขกระดูกออกจากกระดูก และใช้กระดูกเหล่านี้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องมือ นอกจากนี้ ทีมยังระบุกระดูกซี่โครงหนึ่งซี่ว่าเป็นของมนุษย์เดนิโซวานที่พบใหม่ ชั้นที่พบซี่โครงนั้นมีอายุ 48,000-32,000 ปี นั่นหมายความว่าเดนิโซวานผู้นี้มีชีวิตอยู่ในยุคที่มนุษย์ยุคใหม่กระจัดกระจายไปทั่วทวีปยูเรเซีย อย่างไรก็ตาม คำถามที่ตามมาคือเดนิโซวานบนที่ราบสูงทิเบตสูญพันธุ์เมื่อใดและเพราะเหตุใด ซึ่งยังต้องสืบค้นกันต่อไป.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/