กระทรวงดิจิทัลฯ แถลงผลงานในปี 2565 ประสบความสำเร็จในความร่วมมือกับประเทศกัมพูชา ปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ขณะเดียวกันตั้งเป้าชูทุกหน่วยงานภาครัฐทรานฟอร์มสู่รัฐบาลดิจิทัล เร่งลิงค์ข้อมูลสาธารณสุขโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศผ่าน “คลาวด์กลางภาครัฐ” เล็งพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั่วไทย
5 ม.ค.66 – นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา ดีอีเอสและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งดำเนินโครงการที่สำคัญหลายโครงการเพื่อประโยชน์ กับประชาชนอย่างเต็มที่ ดีอีเอสประสบความสำเร็จอย่างมากในความร่วมมือกับประเทศกัมพูชา เพื่อปราบปราม แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และ Hybrid Scam ซึ่งจะมีการตั้งคณะทำงานที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมกันระหว่างไทย และกัมพูชา โดยกระบวนการทำงานมีการตรวจสอบจากข้อร้องเรียนว่า มีคนร้ายขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อยู่ที่จุดไหน มีการร่วมกันจับกุมปรามปรามคนร้าย รวมถึงการส่งกลับมาดำเนินคดีที่ประเทศไทย ทำให้กระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนมีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีทราบพิกัดการกระทำผิด มีการปิดกั้นสัญญาณและเข้าจับกุม ซึ่งจะช่วยกันแก้ปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้หมดไปให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และสามารถปราบปรามสิ่งผิดกฎหมายได้อย่างจริงจัง นอกจากนี้ ดีอีเอส ยังได้เร่งดำเนินงานในด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ระบบบริการคลาวด์กลางภาครัฐ โครงการบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะชุมชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีผ่านเครือข่ายออนไลน์ รวมถึง การส่งเสริมการพัฒนาด้านอีคอมเมิร์ซ สตาร์ทอัพ เมืองอัจฉริยะ ดิจิทัล ไอดี และ ดิจิทัลโพสต์ไอดี รองรับการพัฒนาและการให้บริการดิจิทัลอย่างยั่งยืน
สำหรับความคืบหน้าทางด้านพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาคุ้มครองสิทธิเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลนั้น กำหนด Personal Data Protection Regulation และ Cross-Border Data Transfer ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ รวมถึงให้ความสำคัญกับการปกป้องผลประโยชน์กับประชาชนไทยบนโลกออนไลน์ โดยหลังจากที่ได้มีการประกาศใช้ ทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดี และสามารถสร้างความเชื่อมั่นในเวทีนานาชาติ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ การค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน การเจรจาข้อตกลงทางการค้า และความร่วมมือด้านอื่นๆ กับต่างประเทศ และสามารถลดอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ผ่านออนไลน์ได้ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะออกพระราชกำหนดให้อำนาจหน่วยงานดูแลการกระทำที่มิชอบเพื่อลดการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมายผ่านทางออนไลน์ด้วย
ทางด้านโครงการระบบบริการคลาวด์กลางภาครัฐ หรือ Government Data Center and Cloud service (GDCC) นอกจากจะให้บริการ Virtual Machine สําหรับหน่วยงานภาครัฐ GDCC ยังมีบริการเสริมจำนวนมาก อาทิ AI, IoT รวมถึง Open Data ให้หน่วยงานภาครัฐสามารถนำไปต่อยอด ประยุกต์ใช้งาน เพื่อพัฒนางานในการให้บริการกับประชาชน รวมถึงหน่วยงานรัฐทุกแห่งสามารถที่จะทรานฟอร์มสู่ดิจิทัล 100%เพื่อให้ประชาชนสามารถที่จะใช้บริการภาครัฐผ่านออนไลน์ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า โครงการระบบบริการคลาวด์กลางภาครัฐ ในเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา มีการให้บริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ จำนวน 219 กรม 874 หน่วยงาน 3,065 ระบบงาน มีการพัฒนาบุคลากรตั้งแต่ระดับพื้นฐาน จนถึงระดับผู้เชี่ยวชาญมากว่า 2,500 คน ช่วยรัฐประหยัดงบประมาณได้ถึง 30 – 60% และรัฐบาลมีแผนที่จะทรานฟอร์มทุกหน่วยงานของรัฐ เป็นรัฐบาลดิจิทัล 100% ในปี 2566 นี้ นอกจากนี้รัฐบาลยังมีแผนที่จะจัดทำระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ด้านสาธารณสุข/สถานการณ์โควิด 19, ระบบ National Digital Health Platform เพื่อเป็นระบบเชื่อมโยงข้อมูลสาธารณสุขของประชาชน และโรงพยาบาล สามารถเชื่อมโยงข้อมูลทางด้านสาธารณสุข ฐานข้อมูลคนไข้ผ่านระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ทำให้แพทย์สามารถเรียกดูข้อมูลคนไข้เพื่อการรักษาได้จากโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ดีอีเอสร่วมกับโรงพยาบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขพัฒนา Health Link ระบบเชื่อมโยง/แลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพและประวัติการรักษาทั่วประเทศอย่างมีมาตรฐาน ปลอดภัย และคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยมีการพัฒนาระบบ Data Exchange Zone ที่สามารถบริหารจัดการการดึงข้อมูลจากระบบ Hospital Information System ที่ไม่รบกวนงานหลักของโรงพยาบาล (FHIR Client, FHIR Server) ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการแล้ว 150 แห่ง และอยู่ระหว่างการขยายผลอีก 100 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งประชาชนสามารถลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนและอนุญาตให้ Health Link ดึงข้อมูลประวัติการรักษาของตนได้อย่างสะดวกผ่านหลายช่องทาง โดยระยะแรกใช้ระบบเป๋าตังของธนาคารกรุงไทย และระบบ H4U ของกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก เมื่อประชาชนให้ความยินยอมแล้ว Data Exchange Zone ของโรงพยาบาลจะสามารถเข้าถึงข้อมูลประวัติการรักษา เพื่อแสดงผลให้แพทย์ที่อยู่ในทะเบียนของแพทยสภาใช้ประกอบการวินิจฉัย/รักษาได้
นอกจากนี้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ยังได้ร่วมมือกับ 2 พันธมิตร ประกอบด้วย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และภาคเอกชน นำศักยภาพของทั้ง 3 หน่วยงานมาร่วมกันจัดทำ Digital Health ID เพื่อให้บริการสาธารณสุขและบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพแก่ประชาชน รวมทั้งพัฒนาระบบนำร่อง Health Platform ด้วยเทคโนโลยี Blockchain ในส่วนของโครงการบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชนนั้น ดีอีเอสได้เร่งดำเนินการเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างเทคโนโลยีเพื่อรองรับการใช้งานของประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์หรือออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน โดยโครงการนี้ใช้งบประมาณดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 150.6 ล้านบาท และจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 สามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จำนวน 8,246 แห่งทั่วประเทศ
สำหรับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ของประชาชน นั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า การใช้ไอซีทีของประชาชนในประเทศไทยในไตรมาส 3 ปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่า จากการสำรวจครัวเรือนประมาณ 23.4 ล้านครัวเรือน มีครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์ 5.8 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 24.6% มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต 21.1 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 89.9% และมีโทรศัพท์มือถือ 22.7 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 96.9% นอกกจากนี้ ยังมีผลการสำรวจประชาชนอายุ 6 ปีขึ้นไป ประมาณ 65.6 ล้านคน พบว่า มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 57.0 ล้านคน คิดเป็น 87.0% ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 62.3 ล้านคน คิดเป็น 95.0% และผู้มีโทรศัพท์มือถือ 57.7 ล้านคน คิดเป็น 88.0%
“หน่วยงานภายใต้การดูแลของ ดีอีเอส ได้ดำเนินการพัฒนาทางด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและจังหวัด จัดทำแผนส่งเสริมเศรษฐกิจรายพื้นที่ใน 76 จังหวัด ปัจจุบันทำได้ 48 จังหวัด นอกจากนี้จะมีการจัดตั้ง National Big Data Institute (NBDi) ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และเตรียมเสนอแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ต่อคณะกรรมการดิจิทัลพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คณะกรรมการดีอี) ขณะเดียวกัน มีการส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพสัญชาติไทย ให้สามารถจดจัดตั้งบริษัท จำนวน 142 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจระหว่างปี 2562 – 2565 (ไตรมาส 3) ราว 16,822 ล้านบาท ขณะที่การขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ดีอีเอส ได้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั่วประเทศ โดยมีเมืองที่ได้รับการประกาศเป็นเมืองอัจฉริยะประเทศไทยแล้ว 30 เมือง และอีก 61 เขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะใน 33 จังหวัด และสร้างคนรุ่นใหม่พัฒนาบ้านเกิด (Smart City Ambassadors) 166 ราย ทำงานร่วมกับผู้แทนเมือง 201 ราย” รัฐมนตรี ดีอีเอส กล่าว
ในส่วนของการผลักดันในเรื่อง Digital ID นั้น ดีอีเอสโดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ ETDA ได้ร่วมมือกับ 7 หน่วยงาน ในการจัดทำ Digital ID framework Phase 1 บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน ให้สามารถใช้ Digital ID เพื่อเป็นการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการเร่งเครื่องส่งเสริมให้คนไทยเกิดการพัฒนาและเกิดการใช้งาน Digital ID เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ทัดเทียมสากล ทั้งในมิติของกฎหมาย ได้มี ความคืบหน้า (ร่าง) พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ต้องได้รับใบอนุญาต พ.ศ. …. ที่กำลังจะประกาศใช้ในเร็วๆ นี้ รวมไปถึงการร่างกฎหมายลูกฉบับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
สำหรับโครงการดิจิทัลโพสต์ไอดีนั้น กระทรวงดีอีเอสได้กำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับนวัตกรรมดิจิทัล ตามแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (พ.ศ. 2561 – 2565) มีแนวคิดในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการระบุข้อมูลตำแหน่งที่อยู่ให้เป็นที่อยู่ดิจิทัล หรือเรียกว่า “ดิจิทัลโพสต์ไอดี : Digital Post ID” โดยมอบหมายให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาต่อยอดจากรหัสไปรษณีย์ที่ใช้ตัวเลขห้าหลัก ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานการจัดส่งสิ่งของของไทย มากว่า 40 ปี โดยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดส่งให้มีความสามารถระบุตำแหน่งด้วยรหัสดิจิทัลโพสต์ไอดี ที่สามารถถูกแปลงเป็นพิกัดที่อยู่ของประชาชนภายในประเทศไทยได้ถึงระดับครัวเรือน
พร้อมกันนี้ ยังสามารถรักษาความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว ของข้อมูลส่วนบุคคลของภาคประชาชน โดย ปณท ได้ลงทุนพัฒนาระบบประมาณ 100 ล้านบาท ขณะนี้ กำลังเริ่มทดลองระบบ และคาดว่าจะเปิดให้ใช้งานได้ภายในไตรมาส 2 ของปี 66 และเชื่อว่าภายในปี 67 คาดว่าประชาชนจะมีรหัสดิจิทัลโพสต์ไอดีของตนเองที่จำได้ง่ายมาแทนการเขียนจ่าหน้าแบบเดิมพร้อมกันทั่วประเทศ
ที่มา:thaipost