เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2022 หรือช่วงปลายปีที่แล้ว ได้เกิดปรากฏการณ์ที่หาพบได้ยากกับบรรยากาศชั้น “แมกนีโตสเฟียร์” (magnetosphere) หรือสนามแม่เหล็กของดาวอังคาร โดยลมสุริยะซึ่งปกติจะพัดพากระแสอนุภาคมีประจุไฟฟ้ามาจากดวงอาทิตย์อยู่เสมอ ได้เกิดขาดตอนลงชั่วขณะ ทำให้สนามแม่เหล็กของดาวอังคารสามารถยืดขยาย หรือพองตัวใหญ่ขึ้นกว่าเดิมถึง 3 เท่า
ทีมนักวิทยาศาสตร์ซึ่งศึกษาข้อมูลจากดาวเทียมโคจรสำรวจบรรยากาศของดาวอังคาร “เมเวน” (Mars Atmosphere and Volatile Evolution – MAVEN) ได้รายงานถึงปรากฏการณ์ดังกล่าว ในที่ประชุมสหภาพธรณีฟิสิกส์อเมริกัน (AGU) เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมา
ดาวเทียมเมเวนซึ่งโคจรวนรอบเหนือชั้นบรรยากาศของดาวอังคารมาตั้งแต่ปี 2014 ตรวจพบว่าในวันดังกล่าวบรรยากาศชั้นแมกนีโตสเฟียร์ ซึ่งเป็นสนามแม่เหล็กบาง ๆ ของดาวอังคารได้พองตัวออก จนยืดขยายอาณาเขตล้ำเข้าไปในห้วงอวกาศถึงหลายพันไมล์
ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นตรงกับช่วงเวลาที่ลมสุริยะ (solar wind) อ่อนกำลังลงชั่วขณะ จนมีอนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์มาปะทะกับดาวเทียมเมเวนลดน้อยลงถึง 100 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ ซึ่งทีมนักวิทยาศาสตร์ประจำดาวเทียมเมเวนระบุว่า เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่หาพบได้ยากยิ่ง
ภาพจำลองบรรยากาศชั้นแมกนีโตสเฟียร์ (สีเหลือง) ของดาวอังคาร ในเวลาที่ลมสุริยะ (สีฟ้า) เป็นปกติ
โดยทั่วไปแล้ว ลมสุริยะจะพัดเข้าปะทะกับบรรยากาศของดาวเคราะห์ทุกดวงในระบบสุริยะอยู่เสมอ ซึ่งทำให้ดาวอังคารสูญเสียชั้นบรรยากาศส่วนใหญ่ของมันไป แต่ดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้ก็ยังคงมีบรรยากาศชั้นแมกนีโตสเฟียร์หรือสนามแม่เหล็กอ่อน ๆ หลงเหลืออยู่ โดยสนามแม่เหล็กของดาวอังคารจะออกแรงผลักต้านลมสุริยะให้กระจายออกไปในห้วงอวกาศโดยรอบ
ที่มา:BBC