บันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วย เรื่องการสนับสนุน ส่งเสริม ขับเคลื่อน เพื่อให้ท้องถิ่นไทยให้เข้มแข็งและสร้างความมั่นคงด้านเกษตรกรรมของประเทศไทย
บันทึกตกลงความร่วมมือทำขึ้น ณ สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย บ้านเลขที่ ๓๙ หมู่ที่ ๘ ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๖ “เรื่องการสนับสนุน ส่งเสริม ขับเคลื่อน เพื่อให้ท้องถิ่นไทยเข้มแข็งและสร้างความมั่นคงด้านเกษตรกรรมของประเทศไทย” ระหว่าง ๓ องค์กรดังนี้ ๑. สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย, ๒. สมาคมชาวเกษตรกรไทย, ๓. สถาบันปัญจนิยาม มูลนิธิ มจร วิทยาเขตนครสวรรค์
ซึ่งต่อไปจะเรียกองค์กรในลำดับที่ ๑ ว่า “สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย” เรียกองค์กรลำดับ ที่ ๒ ว่า “สมาคมชาวเกษตรกรไทย” และเรียกองค์กรในลำดับที่ ๓ ว่า “สถาบันปัญจนิยาม” โดยทั้ง ๓ องค์กรตกลงร่วมกันเพื่อบูรณาการความร่วมมือ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ มากที่สุดโดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. วัตถุประสงค์ของข้อตกลงความร่วมมือ จากสภาพปัญหาโลกร้อนและสภาพอากาศแปรปรวน การเปลี่ยนแปลอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัล การเกิดสงครามทางเศรษฐกิจ ได้ส่งผลกระทบต่อ สังคม ชุมชน และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก องค์การสหประชาชาชาติได้มีการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) เพื่อให้ทุกประเทศได้ให้ความสำคัญและตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาใดๆ ควรจะต้องสร้างให้เกิดความยั่งยืนและทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในประเทศไทย ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้ทรงคิดค้นและพัฒนาความรู้เรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง”ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ พระองค์ทรงทำเป็นแบบอย่างผ่านพระราชจริยวัตรและโครงการพระราชดำริ พระองค์ได้ถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ให้กับส่วนราชการเพื่อนำไปใช้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผลจาการดำเนินการทำให้ประเทศไทยไม่ประสบปัญหารุนแรงในด้านเศรษฐกิจ ทั้งยังสามารถรักษาเอกลักษณ์ของชาติไว้ได้จนทุกวันนี้
ด้วยเหตุนี้เพื่อเป็นการเตรียมการรับมือต่อสภาพปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น และสืบทอด รักษา เอกลักษณ์ เศรษฐกิจพอเพียง สร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ จึงได้เกิดการจัดทำข้อตกลงฉบับนี้ขึ้น ดังนี้
ความร่วมมือหมายถึง การร่วมมือระหว่าง “สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย” กับ “สมาคมชาวเกษตรกรไทย “ และ “ สถาบันปัญจนิยาม “ ในการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ ในด้านต่างๆดังต่อไปนี้
1.1 เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตร ลดต้นทุน ลดความเสียหายที่เกิดจากผลกระทบของสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ผลิตสินค้าที่ได้คุณภาพและปลอดภัยจากสารปนเปื้อน การแปรรูปสินค้า ด้วยการใช้ความรู้และเทคโนโลยีรวมทั้งการบริหารจัดการสมัยใหม่
1.2 เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรให้เกษตรกรมีทางเลือกมากขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ชุมชนสามารถตั้งราคาขายเองได้ มีการทำเกษตรแบบ contract farming และ pre-order เชื่อมโยงความต้องการซื้อและความต้องการขายผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ทำให้ราคาสินค้าเกษตรมีความเสถียรและคาดหวังได้
1.3 เพื่อสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญทางการเกษตร ป้องกันบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ลดการปนเปื้อนของน้ำ เพิ่มศักยภาพท้องถิ่นให้สามารถบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตนเองได้อย่างชาญฉลาดและเกิดประโยชน์มากที่สุด เป็นการรับมือต่อสภาพปัญหาโลกร้อนและต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม
1.4 เพื่อร่วมปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ภายใต้บริบทของสังคมเกษตรกรรม ทำให้ชุมชนสามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลด้านต่างๆกันได้เร็วขึ้น เป็นก้าวเข้าสู่ชุมชนแบ่งปันหรือเศรษฐกิจแบ่งปัน
1.5 เพื่อเพิ่มศักยภาพ บุคคล กลุ่ม องค์กร เครือข่าย ของท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องในการที่จะดำเนินการใดๆเพื่อทำให้ข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์
1.6 เพื่อสนับสนุนและผลักดัน ด้านอื่นๆ อันที่เกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นและต่อเกษตรกร และสอดคล้องต่อยุคสมัยและความต้องการของชุมชน ที่จะสามารถให้บริการและจำหน่ายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น การทำสมาร์ทฟาร์ม การปลูกสมุนไพรและพัฒนายาสมุนไพร การพัฒนาแพทย์ทางเลือก การใช้พลังงานทางเลือก การใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรสมัยใหม่ การผลิตน้ำดื่มน้ำใช้ เป็นต้น
2. ขอบเขตและแนวทางความร่วมมือ
2.1 “สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย” มีภาระดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้
2.1.1 ประสาน สร้างการรับรู้ ผลักดัน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยราชการ องค์กรอื่นๆ ได้เข้าใจและให้ความร่วมมือและสนับสนุน ต่อ โครงการหรือการดำเนินงานใดๆที่จะเกิดขึ้นจากข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้
2.1.2 พัฒนาโครงการต้นแบบในพื้นที่นำร่อง สำหรับใช้เป็นพื้นที่เรียนรู้และกรณีศึกษาให้กับ อปท. ชุมชน และองค์กรที่สนใจ
2.1.3 จัดทำแผนพัฒนาและแผนงบประมาณสำหรับ โครงการที่จะดำเนินการภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้
2.1.4 จัดทำฐานข้อมูลศักยภาพท้องถิ่นไทย สำหรับใช้ประเมินศักยภาพของท้องถิ่นทั่วประเทศ และใช้วางแผนสำหรับการพัฒนาโครงการ
2.2 “สถาบันปัญจนิยาม” มูลนิธิ มจร วิทยาเขตนครสวรรค์ มีภาระดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้
2.2.1 ให้บริการทางวิชาการ ค้นคว้าวิจัย จัดทำรายงาน และพัฒนาฐานเรียนรู้
2.2.2 จัดทำแผนพัฒนาศักยภาพและจัดฝึกอบรม
2.2.3 ประสาน สร้างการรับรู้ ผลักดัน ให้สถาบันหรือองค์กรทางวิชาการ อื่นๆ ได้เข้าใจและให้ความร่วมมือและสนับสนุน ต่อ โครงการหรือการดำเนินงานใดๆที่จะเกิดขึ้นจากข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้
2.2.4 ประเมินศักยภาพและติดตามผลการพัฒนา เกษตรกรและองค์กรที่เข้าร่วมโครงการ
2.2.5 สนับสนุน ให้บริการ จัดหา ให้คำแนะนำ ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เหมาะสมสำหรับ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กร เกษตรกร ในการทำงานในยุคดิจิทัล
2.2.6 จัดทำเอกสาร แผนงาน/โครงการ/งบประมาณ ต้นแบบ สำหรับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ องค์กรอื่น ได้นำไปใช้เป็นแม่แบบ ในขั้นตอนการจัดทำแผนงาน/โครงการ เพื่อของบประมาณสนับสนุนในการดำเนินงานโครงการนั้นๆ
2.2.7 จัดทำตัวชี้วัดผลสำเร็จและจัดทำรายงาน ผลการดำเนินงานที่เกิดจากข้อตกลงฉบับนี้
2.3 “สมาคมชาวเกษตรกรไทย” มีภาระดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้
2.3.1 สนับสนุนให้อาชีพเกษตรกรเกิดความให้มั่นคง ทั้งด้านการผลิตและการจัดจำหน่ายสินค้า
2.3.2 สนับสนุน ให้บริการ จัดหา ให้คำแนะนำ ปัจจัยการผลิต นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีหรือเครื่องมือ ที่เหมาะสมได้คุณภาพ สำหรับการผลิต การแปรรูป และการจัดจำหน่ายสินค้า แก่เกษตรกร และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2.3.3 หาตลาดสำหรับการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตร เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร
2.3.4 สร้างแรงจูงใจให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มเกษตรกรเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงาน
2.3.5 ประสาน สร้างการรับรู้ ผลักดัน ให้ภาคส่วนและองค์กร อื่นๆ ได้เข้าใจและให้ความร่วมมือและสนับสนุน ต่อ โครงการหรือการดำเนินงานใดๆที่จะเกิดขึ้นจากข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้
2.3.6 เป็นองค์กรหลัก ในการดำเนินงานในพื้นที่ ภายใต้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของทั้ง 3 องค์กร
2.4 “ทั้ง 3 องค์กร“ ตกลงที่จะสนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อเพิ่มพูลความเข้มแข็งให้แต่ละองค์กรมีศักยภาพสามารถดำเนินงานต่างๆได้อย่างมืออาชีพ มีเป้าหมายให้เกิดความสำเร็จบนพื้นฐานจากการทำงานร่วมกันอย่าง “กัลยาณมิตร” และ “จิตสาธารณะ” และ “ธรรมาภิบาล” โดยเอาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง จะมีการร่วมดำเนินกิจกรรมสำคัญต่าง อย่างน้อย ดังต่อไปนี้
2.4.1 การจัดทำยุทธศาสตร์ แผนพัฒนา แผนปฏิบัติงาน
2.4.2 การจัดประชุมร่วมกันเพื่อปรึกษาหารือ วางแผนและติดตามความคืบหน้าทุกไตรมาส ไตรมาสละอย่างน้อย 1 ครั้ง
2.4.3 การแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้กันอย่างเป็นระบบและบูรณาการ
2.4.4 การจัดทำสำนักงานเสมือนเพื่อทำงานร่วมกันและการพัฒนาบุคลากรขององค์กร
2.4.5 การจัดหางบประมาณดำเนินงาน
2.4.6 การดำเนินการอื่นๆ ที่เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินการตามข้อตกลงฉบับนี้
2.4.7 บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ มีระยะเวลา 2 ปี
บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ ได้จัดทำขึ้นเป็น 3 ฉบับ มีข้อความถูกต้องตรงกันทุกประการ มีผลนับตั้งแต่วันที่มี การลงนามเป็นต้นไป หากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งประสงค์จะยกเลิกบันทึกข้อตกลงความ ร่วมมือนี้ จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้องค์กรอื่นทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ทั้ง 3 องค์กร ได้อ่านและเข้าใจข้อความในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้เป็นอย่างดีโดยตลอด แล้ว จึงได้ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตรา (ถ้ามี) ไว้เป็นสำคัญต่อหน้าพยาน และเก็บรักษาไว้องค์กรละ หนึ่งฉบับ
ผู้ลงนาม : ผศ.(พิเศษ) ดร.วีรศักดิ์ ฮาดดา นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย, นายวรัญญู โค้วรัชตะธนากร นายกสมาคมชาวเกษตรกรไทย, ดร.ธนกฤต รุ่งแสนทวี ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสื่อสารองค์กรสถาบันปัญจนิยาม มูลนิธิ มจร.วิทยาเขตนครสวรรค์