Highlight
เด็ก คือ บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิในด้านต่าง ๆ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child หรือ CRC) ของสหประชาชาติ
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ประกอบด้วยบทบัญญัติ 54 ข้อ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กโดยตรง ซึ่งเน้นหลักพื้นฐาน 4 ประการ ได้แก่ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด, สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา, สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง และสิทธิที่จะมีส่วนร่วม
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กก็ได้ทำการศึกษา พบว่าทั่วประเทศมีเด็กเล็กจำนวนประมาณ 42 ล้านคน มีสถิติถูกทำร้ายร่างกาย 100 คนต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นการทำร้ายทางร่างกาย ถูกทุบตี และด่าทอด้วยถ้อยคำรุนแรง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทัศนคติ “ลูกเป็นสมบัติของพ่อแม่” ยังมีอยู่อย่างเข้มข้นในวิธีการเลี้ยงดูเด็กของสังคมไทย ทัศนคติดังกล่าวส่งผลให้หลายครอบครัวเลือกใช้ความรุนแรงกับ “เด็ก” และยังส่งผลต่อแนวคิดของ “ผู้ใหญ่” หลายคนในสังคมที่มองว่าเด็กเป็นคนตัวเล็ก และไร้อำนาจในการต่อกรกับพวกเขา ดังจะเห็นได้จากคำพูดของนักการเมืองคนหนึ่งที่กล่าวถึงเด็กหญิงนักกิจกรรมทางเมืองในทำนองที่ว่า “ถ้าเป็นลูกจะฆ่าทิ้ง” ซึ่งสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมการละเมิด “สิทธิเด็ก” ที่เป็นปัญหาเรื้อรังของสังคม
ทว่า เด็กทุกคนมีสิทธิที่ควรได้รับมาตั้งแต่เกิดบนพื้นฐานของ “ความเป็นมนุษย์” Sanook จึงขอพาทุกคนไปทำความรู้จัก “4 สิทธิ” ที่เด็กทุกคนได้รับมาตั้งแต่เกิดตาม “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก” ที่ประเทศไทยได้ลงนามเข้าเป็นภาคีสมาชิกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535
“เด็กถูกทำร้าย” ปัญหาที่ใหญ่กว่า “เรื่องในครอบครัว”
“สวัสดิการเด็กเล็ก” ปัญหาของมนุษย์ตัวจิ๋วที่ผู้ใหญ่มองข้าม
หยก VS เตรียมพัฒน์ฯ ดราม่าที่อาจมากกว่า “เครื่องแบบนักเรียน”
“เด็ก” คือใคร
เด็ก คือ บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ (เว้นแต่กฎหมายประเทศจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น) และต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิในด้านต่าง ๆ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child หรือ CRC) ของสหประชาชาติ โดยประเทศไทยได้ลงนามและให้การรับรองสิทธิดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 นั่นหมายความว่ารัฐบาลมีพันธะผูกพันที่จะดำเนินการให้เด็กทุกคนในประเทศได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน
สิทธิพื้นฐาน 4 ประการ
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ประกอบด้วยบทบัญญัติ 54 ข้อ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กโดยตรง ซึ่งเน้นหลักพื้นฐาน 4 ประการ ได้แก่
สิทธิที่จะมีชีวิตรอด (Right of Survival) เด็กมีสิทธิที่จะมีชีวิตรอด ได้รับการจดทะเบียนเกิด มีสิทธิที่จะมีชื่อ ได้สัญชาติ ได้รับการเลี้ยงดูจากบิดามารดา ไม่ถูกแยกจากครอบครัว และได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเหมาะสม
สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา (Right of Development) เด็กต้องได้รับบริการพัฒนาปฐมวัย และได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ความเป็นอยู่และโภชนาการที่เหมาะสมตามวัย รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกายและจิตใจ
สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง (Right of Protection) เด็กควรได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการใช้ความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงการคุ้มครองจากการใช้แรงงานผิดกฎหมาย การทำงานอันตราย หรือขัดขวางการศึกษา
สิทธิที่จะมีส่วนร่วม (Right of Participation) เด็กมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี หรือเข้ามามีบทบาทในเรื่องต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบหรือมีส่วนโดยตรงกับตัวเด็กเอง รวมถึงการตัดสินใจที่มีจะส่งผลต่ออนาคตของตัวเอง
นอกจากสิทธิพื้นฐาน 4 ประการที่เด็กพึงได้รับตั้งแต่เกิดแล้ว เด็กทุกคนยังต้องได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน และได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรม โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของภาษา เชื้อชาติ ศาสนา สถานะทางครอบครัว เพศสภาพ หรือปัจจัยอื่น ๆ เช่นเดียวกับมีสิทธิได้พัก ได้ผ่อนคลาย และได้เล่นสนุก
สิทธิเด็กที่ไม่ถูกนำมาใช้จริง
แม้ประเทศไทยจะลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กอยู่ทั้งหมด 7 ฉบับ แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการ “บังคับใช้” ซึ่งทำให้ประเด็นเรื่องสิทธิเด็กของไทยไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง หรือไม่ทำให้เกิดการคุ้มครองเด็กอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ดังที่ระบุไว้ในอนุสัญญาฯ หรือในกฎหมาย
โธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เคยได้ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย ระบุว่า ความเชื่อเรื่องการลงโทษเด็กของผู้ปกครองเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ประเด็นเรื่องสิทธิเด็กของไทยไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมากมองว่า การลงโทษทางกายเป็น “ความจำเป็น” และ “ไม่เป็นจะเป็นอะไร” ขณะที่เด็กเองก็รับรู้ว่าการกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องที่ยอมรับได้
การลงโทษด้วยการทำร้ายร่างกายในครอบครัวของไทยสะท้อนให้เห็นผ่านผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรี ในช่วงปี พ.ศ. 2558 – 2559 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งพบว่า เด็กอายุระหว่าง 1 – 14 ปี จำนวนร้อยละ 4 หรือคิดเป็นประมาณ 470,000 คน เคยถูกลงโทษทางร่างกายอย่างรุนแรงมากที่บ้าน ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้เปิดเผยสถิติ 16 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2457 – 2563) ชี้ว่ามีการใช้ความรุนแรงกับเด็กและเข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ของโรงพยาบาลตำรวจแล้ว มากกว่า 1,307 ราย ทั้งนี้ยังพบว่าความรุนแรงต่อเด็กยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กก็ได้ทำการศึกษาและพบว่าทั่วประเทศมีเด็กเล็กจำนวนประมาณ 42 ล้านคน มีสถิติถูกทำร้ายร่างกาย 100 คนต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นการทำร้ายทางร่างกาย ถูกทุบตี และด่าทอด้วยถ้อยคำรุนแรง
เด็กมีสิทธิในการชุมนุม
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 มีเด็กและเยาวชนไทยจำนวนมากที่ออกมาเคลื่อนไหวและแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่าง ๆ ทั้งเรื่องระบบการศึกษา เรื่องกฎระเบียบภายในโรงเรียน การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ การทำงานของรัฐบาล รวมไปถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และความหลากหลายทางเพศ เกิดเป็นการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมที่เขย่าสังคมเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม เด็กและเยาวชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นและเข้าร่วมการชุมนุมเหล่านี้กลับถูก “คุกคาม” จากผู้ใหญ่ในสังคม เพียงเพราะพวกเขาแสดงความคิดเห็นที่ “ไม่ถูกใจ” ผู้ใหญ่หลายคน จนนำไปสู่การถูกติดตาม ถูกทำร้ายร่างกาย ทำร้ายจิตใจด้วยถ้อยคำที่รุนแรง ไปจนถึงการถูกดำเนินคดีทางอาญา ทั้งที่เด็กและเยาวชนไทยทุกคนมีสิทธิในการชุมชนไม่ต่างจากประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ตามรัฐธรรมนูญไทย กฎหมายการคุ้มครองเด็ก และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ว่าด้วยการรวมกลุ่มโดยสันติและต้องมีขอบเขตตามหลักประชาธิปไตย
ความคิดและพฤติกรรมของ “เด็กรุ่นใหม่” อาจจะไม่ถูกใจผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคน แต่การแสดงออกถึงท่าทีและถ้อยคำที่รุนแรงของผู้ใหญ่ก็เป็นการกระทำที่ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง หากเด็กคืออนาคตของชาติดังที่เราทุกคนเชื่อ การเปิดใจรับฟัง และวางแผนอนาคตร่วมกับเด็กก็อาจจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ในการสร้างสังคมที่จะเอื้อให้เด็กเหล่านี้ได้เติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และกลับมาสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติได้อย่างแท้จริง
ที่มา:sanook