โควิด-19 : แผนปี 2566 วัคซีนสองสายพันธุ์จะมาเมื่อไร และคืบหน้าวัคซีนไทย

โควิด-19 : แผนปี 2566 วัคซีนสองสายพันธุ์จะมาเมื่อไร และคืบหน้าวัคซีนไทย

ต้นปี 2566 นับได้ว่าโลกได้รู้จักกับโรคโควิด-19 มาแล้ว 4 ปีเต็ม จากวัคซีนโควิดรุ่นแรกถูกฉีดตั้งแต่เดือน มี.ค. 2564 ล่าสุดเกือบ 40 ประเทศทั่วโลกอนุมัติให้ใช้วัคซีนชนิดสองสายพันธุ์แล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข

หลายชาติเริ่มอนุมัติการใช้วัคซีนโควิดสองสายพันธุ์ เมื่อเดือน ส.ค.- ก.ย. 2565 ซึ่งมีสองชนิดยี่ห้อได้แก่ ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา

สหราชอาณาจักร อนุมัติเป็นชาติแรกเมื่อ 15 ส.ค. ตามด้วยสหรัฐอเมริกา 31 ส.ค. และสำนักงานการแพทย์ยุโรป (European Medicines Agency–EMA) ออกคำแนะนำการอนุมัติใช้แก่สมาชิก เมื่อ 1 ก.ย. ซึ่งล่าสุด สหรัฐฯ อนุมัติใช้ในกรณีฉุกเฉินให้แก่เด็กอายุต่ำสุด 6 เดือน

สำหรับประเทศไทย คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้เห็นชอบแผนจัดหาวัคซีนโควิดปี 2566 ไปเมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา แผนการหลักจะเน้นเข็มกระตุ้น 2 โดสต่อคน โดยใช้วัคซีนเดิมและบริจาค และไม่จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม

ในเวลานั้น นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จะใช้วัคซีนเดิมหรือวัคซีนชนิดสายพันธุ์เดียวเป็นเข็มกระตุ้น และยังไม่มีแผนที่จะนำเข้าวัคซีนสองสายพันธุ์ แต่ระบุว่ามีการติดต่อขอรับบริจาค

อย่างไรก็ตาม ศ.พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งเคยเป็นคณะทำงานฝ่ายวิชาการของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ บอกกับรายการชัวร์ก่อนแชร์ สถานีโทรทัศน์ อสมท เมื่อ 19 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่า ปี 2566 ประเทศไทยจะมี “วัคซีนลูกผสม” แน่นอน ซึ่งเกิดจากวัคซีนที่ผสมระหว่างสายพันธุ์ดั้งเดิม ร่วมกับสายพันธุ์บีเอ.5 (BA.5) คาดว่าจะถึงเมืองไทยประมาณเดือน ก.พ.

บีบีซีไทย ได้ติดต่อไปยังอธิบดีกรมควบคุมโรคเพื่อสอบถามความชัดเจน แต่ไม่ได้รับการตอบรับ

วัคซีนสองสายพันธุ์คืออะไร

องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (US FDA) ระบุว่า วัคซีนป้องกันโควิเสองสายพันธุ์ หรือชนิด bivalent หรือ updated ประกอบไปด้วยส่วนของไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมเพื่อการป้องกันโควิดและส่วนไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์แรก เพื่อต่อสู้กับไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน

คำแนะนำในการฉีดวัคซีนสองสายพันธุ์เป็นเข็มกระตุ้น องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ แนะนำว่า ให้ฉีดหลังจากเข็มกระตุ้นเข็มสุดท้ายอย่างน้อย 2 เดือน ส่วนสำนักการแพทย์ยุโรป ระบุคำแนะนำไว้ว่าต้องหลังเข็มกระตุ้นเข็มสุดท้ายอย่างน้อย 2 เดือน

เว็บไซต์ covid19.trackvaccines.org ซึ่งติดตามข้อมูลวัคซีนโควิดทั่วโลก ระบุว่า วัคซีนสองสายพันธุ์ของโมเดอร์นา (สไปค์แวกซ์ ไบวาเลนท์ ออริจินอล และโอมิครอน BA.1) มีประเทศที่อนุมัติใช้งานแล้ว 38 ประเทศ

ส่วนวัคซีนสองสายพันธุ์ของไฟเซอร์-ไบออนเทค (โคเมอร์เนตี ออริจินัล และโอมิครอน BA.1) อนุมัติใช้งานแล้วใน 35 ประเทศ

สายพันธุ์ของไวรัสโควิดจะหยุดที่โอมิครอนหรือไม่

ศ.พญ. กุลกัญญา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์สายพันธุ์โรคโควิด-19 ว่า องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อสายพันธุ์ โดยยังเป็นโอมิครอนเหมือนเดิม นั่นหมายความว่า การกลายพันธุ์ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิมมาก ดังนั้น การวินิจฉัยป้องกันโดยใช้วัคซีนเดิมยังได้ผลอยู่

เธอบอกด้วยว่า สายพันธุ์โอมิครอนปัจจุบัน แม้มีการกลายพันธุ์เป็นลูกหลานที่แตกต่างจากโอมิครอนดั้งเดิม แต่ความแตกต่างนี้ไม่ได้มีผลกระทบอย่างมากมายต่อการวินิจฉัย รักษา ป้องกัน และลักษณะเจ็บป่วย

“องค์การอนามัยโลก ก็ยังให้ชื่อเหมือนเดิม เพียงแต่ตั้งรหัสสายพันธุ์ตามตัวเลขที่อยู่ในระบบวิทยาศาสตร์ แต่อาจจะทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความกังวลว่า นี่สายพันธุ์ใหม่อีกแล้ว แต่จริง ๆ เป็นชื่อที่นักวิทยาศาสตร์พยายามตั้งชื่อ เพราะมีการกลายพันธุ์ที่จุดต่าง ๆ ของไวรัส”  ศ.พญ. กุลกัญญา  พร้อมบอกว่า การวินิจฉัยรักษา และป้องกันที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังได้ผล แม้ว่าตัวไวรัสจะหลบภูมิได้ดีขึ้นก็ตาม

ไม่จำเป็นต้องรอวัคซีนรุ่นใหม่

ศ.พญ. กุลกัญญา กล่าวด้วยว่า ไม่จำเป็นจะต้องรอวัคซีนใหม่ เมื่อถึงเวลาต้องกระตุ้น หลังเข็มสุดท้าย 4-6 เดือน

“เมื่อนั้นมีวัคซีนอะไร เราก็ควรจะไปรับการฉีดกระตุ้น ถ้าเรามีวัคซีนใหม่ก็จะดี เพราะว่าจะมีภูมิคุ้มกันที่สูงกว่าวัคซีนเดิม แต่แม้จะได้รับวัคซีนเดิม หากกระตุ้นหลายครั้งร่างกายก็สามารถที่จะสร้างภูมิคุ้มกันที่ข้ามไปป้องกัน สายพันธุ์กลายพันธุ์ได้ดี ไม่แตกต่างกัน และคาดว่าประสิทธิผลของวัคซีนรุ่นเดิม จะไม่แตกต่างจากวัคซีนรุ่นใหม่”

วัคซีนสัญชาติไทย คืบหน้าอย่างไรบ้าง

  • วัคซีนองค์การเภสัชกรรม HXP-GPO Vac

วัคซีนป้องกันโควิด HXP-GPO Vac ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) กำลังอยู่ในช่วงการวิจัยและพัฒนาในระยะที่ 3 ซึ่งล่าสุด เมื่อ 23 ธ.ค. 2565 ได้มีการเริ่มฉีดให้กับกลุ่มอาสาสมัครที่ จ.นครพนม ในกลุ่มเป้าหมายจำนวน 4,000 คน

นพ. เกรียงไกร ประเสริฐ หัวหน้าโครงการวิจัยหลักระยะ 2 และ 3 ภายใต้โครงการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 HXP-GPO Vac ระยะที่ 3 กล่าวว่า การศึกษาวิจัยในเฟสที่ 3 ในอาสาสมัครจำนวน 4,000 คน เป็นการติดตามความปลอดภัยดูผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่มีต่อเชื้อโควิด-19 โดยเน้นฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเปิดรับเป็น 2 ช่วง คือ ระหว่าง 23-29 ธ.ค. และช่วงหลังปีใหม่คือ 5-11 ม.ค. 2566

สำหรับคุณสมบัติของอาสาสมัคร คือ มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ฉีดวัคซีนมาแล้ว 2 เข็ม โดยเป็นชนิดเดียวกัน เช่น ซิโนแวค+ซิโนแวค แอสตร้าเซเนก้า+แอสตร้าเซเนก้า เป็นต้น และผู้เป็นอาสาสมัครต้องมีสุขภาพแข็งแรง หากมีโรคประจำตัวต้องควบคุมได้ ผ่านการประเมินของแพทย์ และไม่เคยติดโควิดในช่วง 3 เดือนก่อนวันฉีด

สำหรับพื้นที่ จ.นครพนม เคยเป็นพื้นที่โครงการวิจัยระยะที่ 2  ซึ่งที่ผ่านมามีอาสาสมัครเข้าร่วมฉีดวัคซีน 300 คน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว. สาธารณสุข ร่วมติดตามโครงการวิจัยทางคลินิกระยะ 3 วัคซีน HXP-GPOVac ขององค์การเภสัชกรรม ที่ จ.นครพนม เมื่อ 23 ธ.ค. 2565

นพ. เกรียงไกร กล่าวถึง อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นในระยะที่ 2 เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้โดยทั่วไป เช่น อาการเฉพาะที่ปวดบวมและแดง เปอร์เซ็นต์ในการเกิดอยู่ที่ 20% ในระดับของอาการเกิดอยู่ที่ระดับเล็กน้อย อาการไข้ เจอน้อยด้วยเช่นกัน ไม่ต่างจากวัคซีนอื่นทั่วไป

ด้าน ภญ.พรทิพย์ วิรัชวงศ์ ผอ.ฝ่ายชีววัตถุ/รักษาการผู้จัดการโครงการผลิต(วัคซีน) ชีววัตถุ อภ. กล่าวถึงการศึกษาผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเฟส 3 ว่า เป็นการติดตามภูมิคุ้มกันในระยะ 14 วัน 3 เดือน และ 6 เดือน แต่ติดตามผลข้างเคียง 1 ปี โดยจะเปรียบเทียบเพื่อเป็นข้อมูลในการขึ้นทะเบียนกับ อย. เป็นหลัก คือ ช่วง 14 วันหลังจากการฉีด

เมื่อศึกษาวิเคราะห์และผ่านคณะกรรมการพิจารณา แล้วจะนำเสนอต่อก่อน อย. ต่อไป ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดน่าจะแล้วเสร็จช่วงกลางปี 2566

  • วัคซีนจุฬาฯ-ใบยา

วัคซีนจุฬาฯ-ใบยา เป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดชิ้นส่วนของโปรตีน (Subunit vaccine) ที่วิจัยพัฒนาโดย คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด บริษัทสตาร์ทอัพของจุฬาฯ

ความคืบหน้าล่าสุด ผศ.ภญ.ดร. สุธีรา เตชคุณวุฒิ หัวหน้าภาควิชาเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และซีอีโอใบยาไฟโตฟาร์ม กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ได้มีการพัฒนาวัคซีนรุ่น 1 รุ่น 2 เป็นผลสำเร็จและทดลองในมนุษย์แล้ว โดยเตรียมจะนำไปใช้จริงใน 1-2 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ล่าสุด ยังได้พัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 3 ที่มาจากไวรัส 2 สายพันธุ์ เช่นเดียวกับวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา ซึ่งได้ทดสอบในสัตว์เกือบเสร็จสิ้นแล้ว

ผศ.ภญ.ดร. สุธีรา ระบุด้วยว่า และเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา จึงเตรียมพัฒนาวัคซีนใบยาที่เป็นยูนิเวอร์แซล หรือวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสามารถเป็นภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัส โคโรนาทุกสายพันธุ์ โดยจะใช้ข้อมูลจากการพัฒนาวัคซีนรุ่น 1 รุ่น 2 มาพัฒนาตัวที่ดีที่สุด

วัคซีนจุฬาฯ-ใบยา เป็นการผลิตโดยเพาะเลี้ยงแบคทีเรียพาหะสารพันธุกรรมโคโรนาไวรัส ปลูกถ่ายลงในใบยาสูบก่อนเพาะพันธุ์เพิ่มจำนวน และเก็บเกี่ยวเพื่อสกัดโปรตีนใช้ผลิตวัคซีนก่อนนำส่งไปยังบริษัท คินเจนไบโอเทค จำกัด เพื่อทำให้วัคซีนบริสุทธิ์และส่งต่อไปผสม แบ่งบรรจุวัคซีนนำไปใช้งาน

หากเริ่มใช้งานจริง วัคซีนจุฬาฯ-ใบยาจะสามารถผลิตได้เดือนละ 1-5 ล้านโดส  หรือ 60 ล้านโดสต่อปี ช่วยลดต้นทุนการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ และสามารถพัฒนาเพื่อส่งออกได้ด้วย

  •  วัคซีนจุฬาฯ-คอฟ 19

ข้อมูลล่าสุดจากศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกกับบีบีซีไทยเมื่อปลายปีว่า วัคซีนกำลังอยู่ในกระบวนการทดสอบในอาสาสมัครคนไทยและออสเตรเลีย และกำลังเตรียมการทดสอบวัคซีนรุ่นที่ 2 หลังจากเมื่อช่วงกลางปี 2565 ได้ขออนุญาตขึ้นทะเบียนผลิตโดยโรงงานในประเทศไทย โดยทางจุฬาฯ จะแจ้งความคืบหน้าอีกครั้งในเดือน ม.ค. นี้

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ. บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19  ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ระบุด้วยว่า เป้าหมายตอนแรกคือ ทดสอบในอาสาสมัครให้เรียบร้อยและขึ้นทะเบียนวัคซีนจุฬาฯ-คอฟ 19 ภายในปี 2565 แต่เกิดความล่าช้ากว่าแผนมาก เนื่องจากระบบขั้นตอนการพิจารณาในประเทศยังไม่คล่องตัว จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นการพัฒนาและผลิตเพื่อทดสอบวัคซีนรุ่นที่ 2 สำหรับเชื้อสายพันธุ์ใหม่แทน โดยคาดว่าจะสามารถขึ้นทะเบียนและนำมาใช้ได้ภายในปลายปี 2566

วัคซีนจุฬาฯ-คอฟ 19 เป็นวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) เป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกับวัคซีนไฟเซอร์ และโมเดอร์นาผลิตโดยสร้างชิ้นส่วนขนาดจิ๋วจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนาโดยไม่มีการใช้ตัวเชื้อ ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมขนาดจิ๋วนี้เข้าไป จะสร้างเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัสขึ้น (spike protein) และกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันไว้เตรียมต่อสู้กับไวรัสเมื่อไปสัมผัสเชื้อ

เมื่อวัคซีนชนิด mRNA ทำหน้าที่ให้ร่างกายสร้างโปรตีนเรียบร้อยแล้ว ภายในไม่กี่วัน mRNA นี้จะถูกสลายไปโดยไม่มีการสะสมในร่างกาย

ในการทดสอบระยะแรกในอาสาสมัคร 36 คน พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีได้สูงเทียบได้กับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ อย่างไฟเซอร์-ไบออนเทค และสามารถยับยั้งไวรัสกลายพันธุ์ได้ 4 สายพันธุ์

ที่มา:bbc.com

ผู้นำเสนอข่าว

yoko

Written by:

3,724 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

One thought on “โควิด-19 : แผนปี 2566 วัคซีนสองสายพันธุ์จะมาเมื่อไร และคืบหน้าวัคซีนไทย