การลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศ OPEC+ ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบในโลกลดลงอย่างรวดเร็ว ล่าสุดซาอุดีอาระเบียและรัสเซียประกาศลดอุปทานสำหรับเดือนสิงหาคมก่อนการประชุม OPEC+ ในปลายสัปดาห์นี้ โดยการปรับลดนี้คิดเป็น 1.5% ของอุปทานทั่วโลก
การปรับลดกำลังการผลิตในครั้งนี้ เพื่อเป็นการลดความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในสหรัฐฯ ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ด้านซาอุดีอาระเบียจะขยายเวลาลดกำลังการผลิตลง 1 ล้านบาร์เรล/วัน โดยสมัครใจออกไปอีก 1 เดือนหรือถึงเดือนสิงหาคม ขณะที่รัสเซียจะลดการส่งออกน้ำมันลง 0.5 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือนเดียวกัน
บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นในบทวิเคราะห์ว่ามีมุมมองที่ดีขึ้นต่อราคาน้ำมันดิบจากการพัฒนาของอุตสาหกรรมดังกล่าว เราปรับมุมมองต่อราคาน้ำมันเป็นกลางจากเชิงลบเล็กน้อย เนื่องจากการปรับลดอุปทานดังกล่าวคิดเป็น 1.5% ของอุปทานน้ำมันดิบทั่วโลก และทำให้ OPEC+ ปรับลดทั้งหมดรวมเป็น 5.16 ล้านบาร์เรล/วัน เทียบกับ 9 ล้านบาร์เรล/วัน ในช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด-19
นอกจากนี้ คิดว่าการลดอุปทานดังกล่าว จะทำให้อุปทานส่วนเกินมีความสมดุลมากขึ้น โดยคาดว่าปริมาณน้ำมันคงคลังขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) จะเปลี่ยนจากขาขึ้นเป็นแกว่งตัวออกข้าง ซึ่งหมายความว่า downside ต่อราคาน้ำมันที่จำกัด
ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงอีกนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยเร่งเพิ่มเติม เช่น ผลกระทบของพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกและสภาพอากาศในฤดูหนาวนี้ เมื่อวานนี้ องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ยังเตือนด้วยว่าหากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนเร่งตัวขึ้นในช่วงปลายปีนี้ และฤดูหนาวในซีกโลกเหนือมีความรุนแรงกว่าปีที่แล้ว ราคาพลังงาน ซึ่งรวมถึงก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจะเพิ่มสูงขึ้น โดยผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญในปีนี้ช่วยเพิ่มโอกาสในการเกิดพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกและสภาพอากาศหนาวเย็นในซีกโลกเหนือ
อย่างไรก็ตาม คงมุมมองเป็นกลางต่อกลุ่มพลังงาน จากเชื่อว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในการซื้อขายหุ้นที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน เช่น PTTEP, BCP และ PTT เนื่องจากการลดอุปทานจะจำกัด downside ของราคาน้ำมัน ในทางกลับกัน เราเปลี่ยนมุมมองที่เป็นบวกต่อหุ้นค้าปลีกน้ำมันเป็นมองบวกอย่างระมัดระวัง เนื่องจากราคาน้ำมันที่อาจสูงขึ้นอาจสร้าง downside ต่อค่าการตลาดขายปลีกน้ำมันในภายหลัง
ด้านบทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบ ยังถูกกดดันจากความกังวลด้านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งติดต่อกันในปีนี้ เช่นเดียวกับประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่เผยว่ามีแนวโน้มปรับขึ้นอัตรา ดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในยุโรปยังอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ตามระหว่างสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันยังมีแรงหนุนจากสถานการณ์ตึงเครียดในรัสเซีย หลังกลุ่มทหารรับจ้าง วากเนอร์ก่อกบฏและเคลื่อนทัพเข้าสู่กรุงมอสโก ก่อนเหตุการณ์ดังกล่าวจะสงบลง หลังจากประธานาธิบดีเบลารุสเข้ามาเจรจาได้ในที่สุด นอกจากนี้ EIA รายงาน สต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในสัปดาห์ล่าสุดปรับตัวลดลง 9.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่คาดว่าจะลดลงเพียง 1.8 ล้านบาร์เรล
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ยังอยู่ในภาวะผันผวนจากทั้ง demand และ supply ที่แท้จริง รวมถึงประเด็นบวกและลบต่อราคาน้ำมันที่เกิดขึ้นระหว่างทาง ซึ่งหากพิจารณาภายใต้ demand และ supply ที่แท้จริง และราคาน้ำมันในปัจจุบัน ฝ่ายวิจัยยังคงมุมมองที่คาดทิศทางราคาน้ำมันน่าจะเริ่มมี downside ที่จำกัดมากขึ้น จากการจำกัด supply ของกลุ่ม OPEC+ ส่วนการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันจะมีเสถียรภาพมากน้อยเพียงใดยังขึ้นอยู่กับ demand ซึ่งแปรผันตามการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยกำหนดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2566 อยู่ที่ 90 เหรียญฯ/บาร์เรล และระยะยาวตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไปอยู่ที่ 75 เหรียญฯ/บาร์เรล ซึ่งภายใต้สมมติฐานดังกล่าวมูลค่าพื้นฐานของ PTTEP อยู่ที่ 178 บาท/หุ้น และ PTT อยู่ที่ 46 บาท/หุ้น ยังแนะนำหาจังหวะ trading ตามทิศทางราคาน้ำมันได้ต่อ
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/