จังหวัดนครพนม เตรียมพร้อมจัดงานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช ปี 2566
วันที่ 21 มิ.ย.66 ที่ห้องประชุมพระธาตุนคร ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครพนม นายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล รอง ผวจ.นครพนม เป็นประธานในการประชุมเตรียมพร้อมในการจัดงานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 7 – 13 ก.ค.66 ที่บริเวณแลนด์มาร์คพญาศรีสัตตนาคราช ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมมืองนครพนม จังหวัดนครพนมได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน โดยมีการประชุมหารือเตรียมการในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปผลการดำเนินงานนำมาเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอทุกอำเภอ ในวันที่ 27 มิ.ย.66 ประกอบด้วยการจัดสถานที่และผังการจัดงาน การกำหนดที่นั่งสำหรับแขกรับเชิญ ประชาชนเข้าร่วมงาน การกำหนดรูปแบบในการวางเครื่องบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช การวางบายศรี (ขันหมากเบ็ง) ขนาดใหญ่ การจัดบายศรีสำหรับประธานในแต่ละวันและผู้มาร่วมงาน รูปแบบของขบวนแห่งเครื่องบวงสรวงฯ โดยสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครพนม สำนักงานจังหวัดนครพนม ขอรับการสนับสนุนกำลังพลเพื่อแบกเสลี่ยง เครื่องบวงสรวงในขบวนแห่ฯ ในวันที่ 7 ก.ค. จำนวน 60 นาย ใช้สถานที่ในการจัดเตรียมเครื่องบวงสรวงฯ และเครื่องแต่งกายในวันที่ 6 – 7 ก.ค. บริเวณใต้อาคารเรียนโรงเรียนเทศบาล 2
การติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าชั่วคราวในบริเวณจัดงาน การกำหนดตำแหน่งในการยืนสำหรับนางรำ ในวันที่ 7 ก.ค.66 จำนวน 1,000 คน และจุดเริ่มต้นของขบวนแห่ โดยหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข) เขตนครพนม และสถานีตำรวจภูธรเมืองนครพนม มณฑลทหารบกที่ 210 (มทบ.210) จำนวน 150 นาย จัดแผงเพื่อใช้กั้นบริเวณการจัดพิธีเปิดงาน และบริเวณนางรำในขบวน
สำหรับในวันที่ 7 ก.ค.66 พิธีบวงสรวง และการรำบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช เริ่มต้นจากถนนนิตโย (ตัดกับถนนศรีเทพ) เคลื่อนขบวนมายังถนนนิตโย ไปยังบริเวณพิธี คือ ลานแลนด์มาร์คพญาศรีสัตตนาคราช ประธานในพิธีพร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ นำเครื่องบูชาวางบนโต๊ะที่จัดไว้หน้าองค์พญาศรีสัตตนาคราช จุดธูปเทียน และกล่าวคำบูชาฯ ผู้ร่วมพิธีกล่าวตาม จากนั้นมีการแสดงและการรำบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช โดยนางรำ จากมูลนิธิศรีโคตรบูรณ์ ชุมชนบ้านใต้ ชมรมฟ้อนรำศรีโคตรบูรณ์ อ.เมือง จ.นครพนม การแสดง 7 ชุด คือ ชุดการแสดงพื้นบ้านจากอำเภอต่าง ๆ การรำบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช เพลงศรีโคตรบูรณ์ โดย ซานต้า ศศรส สุวัฒนพร เพลงนครพนมเมืองงาม เพลงออนซอนนครพนม เพลงฮีตสิบสองของดีอีสาน เพลงฮีตสิบสองของดีอีสาน เพลงนครพนมคืนเพ็ญ เพลงสาละวันรำวง
ภายในงานฯ มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน และสินค้าธงฟ้าราคาประหยัด ตลาดคนเมืองไทนคร ณ บริเวณลานพนมนาคา การแสดงศิลปวัฒนธรรมจาก 8 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ การแสดงบินโดรนแปรอักษร จำนวน 500 ลำ จาก บจ.สกายอิมเมจเทค ตลอดทั้ง 7 วัน มีขบวนแห่เครื่องบวงสรวงฯ และการรำบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช
ที่มา:ข่าวความมั่นคงออนไลน์