ภาระค่าใช้จ่ายลดสงบเงินเฟ้อ นโยบายขึ้นค่าแรงต้องค่อยเป็นค่อยไป

ภาระค่าใช้จ่ายลดสงบเงินเฟ้อ นโยบายขึ้นค่าแรงต้องค่อยเป็นค่อยไป

เงินเฟ้อ พ.ค.66 เพิ่ม 0.53% ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน หลังค่าใช้จ่ายครัวเรือนลด 130 บาท จากเดือน เม.ย. ทั้งด้วยราคาน้ำมัน ค่าไฟ อาหารสด ปรับตัวลง และฐานปีก่อนสูง ส่วนเฉลี่ย 5 เดือน เพิ่ม 2.96% เชื่อนโยบายขึ้นค่าแรง ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ทำเงินเฟ้อดีด

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน พ.ค.66 ว่า เท่ากับ 107.19 เทียบกับเดือน เม.ย.66 ลดลง 0.71% แต่เทียบกับเดือน พ.ค.65 เพิ่มขึ้นเพียง 0.53% ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 21 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ย.64 ที่ขยายตัว 1.68% โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า อาหารสด และฐานราคาเดือน พ.ค.65 ที่ใช้เปรียบเทียบเงินเฟ้อเดือน พ.ค.66 อยู่ในระดับสูง ส่วนเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ปีนี้ เพิ่มขึ้น 2.96% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเดือน พ.ค.66 ที่หักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.06% เทียบกับเดือน เม.ย.66 และเพิ่มขึ้น 1.55% เทียบเดือน พ.ค.65 รวม 5 เดือนเพิ่มขึ้น 1.98%

สำหรับแนวโน้มเดือน มิ.ย.66 คาดว่าจะเริ่มทรงๆ ถ้าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับขึ้นลงในกรอบแคบๆ และไม่น่ามีโอกาสเห็นราคาขึ้นไปเท่ากับปีก่อน แม้โอเปกลดกำลังการผลิตลง เพราะเศรษฐกิจโลกถดถอยจะฉุดความต้องการใช้ อีกทั้งฐานเงินเฟ้อปีก่อนสูงมาก ซึ่งจะมีผลทำให้เงินเฟ้อไม่เพิ่มขึ้นมาก แต่คงไม่ถึงขั้นติดลบ หากจะติดลบมีกรณีเดียวคือ รัฐมีมาตรการ

“จากนี้เงินเฟ้อจะทรงๆ ไม่หวือหวา คาดว่าไตรมาส 2 น่าจะเพิ่มเพียง 1% นิดๆ ไตรมาส 3 และ 4 น่าจะโตใกล้เคียง 1% โดยในเดือนหน้า สนค.จะปรับประมาณการเงินเฟ้อปี 66 ใหม่ มีโอกาสโตต่ำกว่าเดิมที่คาดโต 2.2% ส่วนยังต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ ต้องถามคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพราะมีหลายเรื่องที่ต้องดูแล ทั้งค่าเงินบาท เงินทุนไหลเข้าออก ต้นทุนสถาบันการเงิน ถ้าดูแลเงินเฟ้ออย่างเดียว ก็ไม่น่าขึ้นแล้ว”

อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาภัยแล้งที่จะทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง และราคาปรับ ขึ้น ความต้องการบริโภคสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว และกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเหมือนเดิม รวมถึงต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูงจากราคาก๊าซหุงต้ม หรือในอนาคตจะมีการปรับขึ้นค่าแรง ที่อาจทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นได้ แต่เรื่องค่าแรงจะปรับขึ้นหรือไม่ ยังไม่ชัดเจน แต่หากปรับขึ้นจริง น่าจะเป็นการทยอยปรับขึ้นตามขั้นบันได ไม่ได้ปรับขึ้นพรวดเดียว

นายวิชานัน กล่าวว่า เงินเฟ้อเดือน พ.ค.66 ที่สูงขึ้น 0.53% มาจากการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 3.99% ชะลอตัวจาก เดือน เม.ย.66 ที่สูงขึ้น 4.53% โดยสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น ผักและผลไม้ ไข่ไก่ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) น้ำอัดลม กาแฟผงสำเร็จรูป) และอาหารบริโภคในบ้าน ฯลฯ ส่วนหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลง 1.83% ตามการ ลดลงของดีเซล แก๊สโซฮอล์ และเบนซิน ค่าไฟฟ้า เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ ค่าสมาชิกเคเบิลทีวี ฯลฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่ลดลง และรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า ส่งผลให้ภาระค่า ใช้จ่ายของครัวเรือนเดือน พ.ค.66 อยู่ที่ 18,023 บาท ลดลง 130 บาท จากเดือน เม.ย.66 ที่มีภาระ 18,153 บาท โดยสินค้าหมวดสำคัญที่ลดลงคือ ค่าโดยสารสาธารณะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์มือถืออยู่ที่ 4,170 บาท ลดจาก 4,230 บาท, ค่าไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ก๊าซหุงต้ม วัสดุก่อสร้าง 3,922 บาท ลดจาก 4,038 บาท, เนื้อสัตว์ 1,704 บาท ลดจาก 1,720 บาท ฯลฯ.

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,833 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *