4 โอกาสการลงทุน ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

4 โอกาสการลงทุน ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

ตั้งแต่เริ่มปี 2023 บรรยากาศในตลาดการลงทุนยังเต็มไปด้วยความท้าทาย ทั้งเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วที่สุดนับจากทศวรรษที่ 1980 ซึ่งเริ่มส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ รวมถึงกรณีความวุ่นวายในกลุ่มธุรกิจธนาคารที่เกิดขึ้นในวงกว้างทั้งในสหรัฐฯ และทวีปยุโรป ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิด Recession ในประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกสูงขึ้น ความกังวลของนักลงทุนจึงเปลี่ยนจากเรื่องเงินเฟ้อไปสู่ประเด็นการเติบโตทางเศรษฐกิจแทน

ในระยะข้างหน้า เรายังคงต้องอยู่กับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจต่อไป ดังนั้นการบริหารพอร์ตในลักษณะ Defensive หรือการเพิ่มสินทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำจะช่วยปกป้องและเพิ่มเสถียรภาพให้กับพอร์ตของคุณในช่วงนี้ได้ โดยเรามองเห็น 4 โอกาสการลงทุนในระยะข้างหน้านี้ ได้แก่

ตราสารหนี้
โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะสั้น ซึ่งเป็นสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ แต่ปัจจุบันให้ Yield สูงสุดในรอบกว่า 10 ปี และยังมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในระดับสูงตลอดปี 2023 ขณะที่ตราสารหนี้ระยะยาวอาจเริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้นเมื่อตลาดเริ่มเห็นแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2023

นอกจากนี้ ข้อมูลในอดีตยังแสดงว่า ตราสารหนี้มักจะสร้างผลตอบแทนดีกว่าหุ้นในช่วงที่เศรษฐกิจเป็นขาลง เพราะนักลงทุนมักจะเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยง และหันมาให้ความสนใจสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe haven) หรือสินทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำอย่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ

ทองคำ
ถือเป็นสินทรัพย์สำคัญในการปกป้องและสร้างสมดุลให้กับพอร์ตท่ามกลางความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาด อย่างที่เราได้เห็นในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา โดยทองคำยังเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าความสัมพันธ์ระหว่างสินทรัพย์ หรือ Correlation ต่ำ ทั้งกับตราสารหนี้และหุ้น

ทั้งนี้ หากย้อนดูในปีที่แล้วเราพบว่า ราคาทองคำยังทรงตัวได้ดี และทำผลตอบแทนได้ดีกว่าทั้งหุ้นและตราสารหนี้ ในระยะต่อไปทองคำอาจได้ประโยชน์จากแนวโน้มที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าลง เมื่อ Fed ชะลอหรือหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

หุ้นกลุ่ม Defensive
อย่างกลุ่มธุรกิจ Healthcare และ Consumer Staples มีแนวโน้มจะ Outperform มากกว่าหุ้นกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากนักลงทุนหันไปหาหุ้นกลุ่มที่ปลอดภัยกว่า และยังมีแนวโน้มปรับตัวได้ดีกว่าหุ้นกลุ่ม Cyclical เช่น พลังงาน และภาคการผลิต เพราะหุ้นกลุ่ม Defensive เหล่านี้มักได้รับผลกระทบน้อยกว่าจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

กลุ่มตลาดเกิดใหม่
มีแนวโน้มที่น่าสนใจมากกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เพราะมีสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน โดยในระยะต่อไป คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอาจชะลอตัวลงอีก เห็นได้จากเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่าง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสหรัฐฯ (PMI) ได้ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 3 ปี การใช้จ่ายผู้บริโภคเริ่มชะลอตัวลง การขอรับสวัสดิการการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นแม้ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง ฯลฯ ขณะเดียวกันเรายังเห็นการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งข้อมูลในอดีตพบว่าหลังการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมักเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมา

ขณะที่ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวขึ้นเห็นได้จากในไตรมาส 1/2023 GDP ของจีนเติบโตถึง 4.5% YoY ซึ่งการฟื้นตัวนี้มาจากการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นหลังยกเลิกมาตรการ Zero-COVID โดยส่วนใหญ่อยู่ในหมวดสินค้าและบริการภายในประเทศ เช่น การท่องเที่ยว การขนส่ง และอาหาร ดังนั้น การเริ่มฟื้นตัวของจีนอาจยังไม่ได้ส่งผ่านไปสู่เศรษฐกิจประเทศอื่นๆ อย่างเช่นในอดีต อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าการฟื้นตัวนี้อาจเริ่มชะลอลง โดยธนาคารกลางจีนได้ส่งสัญญาณว่าอาจมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้าเราคาดว่าดอลลาร์สหรัฐอาจมีเสถียรภาพมากขึ้นจากการที่เข้าใกล้จุดจบวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้การเคลื่อนไหวของค่าเงินในสกุลต่างๆ น่าจะผันผวนน้อยลงและจะขับเคลื่อนจากปัจจัยเฉพาะภายในแต่ละประเทศ

ตลอดปีนี้อาจมีความไม่แน่นอนสูงจากปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ แต่ในโลกของการลงทุน เศรษฐกิจจะดำเนินไปเป็นวัฏจักรซึ่งมีทั้งช่วงที่เติบโตและหดตัวเกิดขึ้นในบางช่วงเวลา แต่ในระยะยาวตลาดมักฟื้นตัวกลับมาเสมอ ดังนั้นนักลงทุนควรโฟกัสที่การลงทุนระยะยาวและมีพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดีเพื่อช่วยลดผลกระทบเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ขณะเดียวกันการกระจายการลงทุนที่ดียังช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนในระยะยาวอีกด้วย

หมายเหตุ: การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

ข้อมูลนี้ไม่ถือเป็นคำเสนอ คำแนะนำ คำเชื้อเชิญ หรือการชักชวนให้ท่านซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือเข้าทำธุรกรรมใดๆ ข้อมูลนี้ไม่ได้จัดเตรียมขึ้นโดยคำนึงถึงสถานการณ์ส่วนบุคคลของท่าน (เช่น วัตถุประสงค์การลงทุน สถานการณ์ทางการเงิน หรือความต้องการโดยเฉพาะ) ท่านควรขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาด้านการเงิน บัญชี ภาษี กฎหมาย และด้านอื่นๆ ของท่านเอง

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,843 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *