กระทรวงมหาดไทยน้อมนำพระดำริ “เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” จาก Sustainable Fashion โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกสู่หมู่บ้านยั่งยืน “Sustainable Village” ปลัด มท.-แม่บ้านมหาดไทย นำคณะลงพื้นที่โค้ชชิ่ง“ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ประชาชนภาคเหนือให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
ที่ห้องมารีน่าแกรนด์บอลรูม กัซซัน พาโนรามา รีสอร์ท ลำพูน จ.ลำพูน เมื่อวันที่ 22 เม.ย. เวลา 10.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานเปิดกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ด้านผ้าไทย และงานหัตถกรรม (Coaching) “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” จุดดำเนินการที่ 4 จ.ลำพูน ตามโครงการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน โดยมีนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ร่วมในพิธี พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้
นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระ กรุณาธิคุณต่อประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องช่างทอผ้าและผู้ประกอบการ OTOP ด้านผ้าและหัตถกรรม ซึ่งปรากฏอย่างชัดแจ้งว่า ในห้วงระยะเวลา 3 ปีที่พระองค์ทรงใช้พระอัจฉริยภาพในงานผ้าไทย ทรงโน้มพระองค์ลงมาประทับเคียงข้างพี่น้องช่างทอผ้าและพระราชทานพระวินิจฉัย พระราชทานพระดำริ รวมทั้งพระราชทานลายผ้าพระราชทาน เริ่มตั้งแต่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ลายขิดนารีรัตน ราชกัญญา และล่าสุดคือ ลายดอกรักราชกัญญา พร้อมทั้งแนวทางในการตัดเย็บให้มีความสวยสดงดงาม มีลวดลายสลับกลับด้านผ่านการออกแบบที่ทันสมัย และสร้างความยั่งยืนด้วยการใช้สีธรรมชาติย้อมผ้า ทำให้สังคมเกิดความเชื่อมั่นว่าผ้าไทยสามารถตอบสนองรสนิยมของคนทุกเพศ ทุกวัย ใส่ได้ทุกโอกาส ทุกสถานที่ และสามารถทำให้คนที่สวมใส่และคนที่ได้พบเห็นมีความสุข ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ พระดำริ “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” และทรงพระราชทานพระอนุญาตให้ทุกคนสามารถนำไปต่อยอดได้ ทรงปรารถนาที่จะทำให้พี่น้องคนไทยมีอาชีพ มีรายได้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองให้มีความสุขอย่างยั่งยืน
นายสุทธิพงษ์กล่าวอีกว่า ด้วยพระวิสัยทัศน์อันแน่วแน่มั่นคงในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน พระองค์ได้พระราชทานหนังสือ Sustainable City ให้กับปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และประธานแม่บ้านพัฒนาชุมชน พร้อมทั้งพระราชทานพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” เพื่อให้ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยได้เป็นผู้นำบูรณาการร่วมกับทุกกระทรวง ทำให้ทุกหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านยั่งยืน อันเป็นการขยายผลมาจากที่พวกเราได้น้อมนำพระดำริ Sustainable Fashion อย่างยั่งยืน จากโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก พร้อมกันนี้ได้พระราชทานหนังสือ Trend book และทรงเป็นบรรณาธิการรวบรวมเรียบเรียงและเสนอแนวโน้มของ วงการแฟชั่นในอนาคต
ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงประมวลรวมกันเป็น Sustainable Fashion ประกอบด้วย 1.การพึ่งพาตนเองจากวัตถุดิบ ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย และแลกเปลี่ยนซื้อขายจากเกษตรกรคนไทยในประเทศ 2.ใช้ความเพียรพยายามในการใช้ความรู้ ความสามารถ ทำผ้าด้วยแรงกายแรงใจของพวกเรา น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ประกอบอาชีพ 3.ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้รับจากวิทยากรไปสู่ลูกหลาน เพื่อสร้างโอกาสนำไปต่อยอดพัฒนาคุณภาพชีวิต 4.นำหลักแฟชั่นสมัยใหม่มาประยุกต์ พัฒนางาน และคำนึงถึงความต้องการของผู้ที่สวมใส่ ติดตามข่าวสารการเปลี่ยนแปลง ความนิยมชมชอบของแฟชั่นในอนาคต ดังนั้นจึงมีการขับเคลื่อนสิ่งต่างๆนี้ นำไปสู่หมู่บ้านยั่งยืน อันมีองค์ประกอบ คือต้องรวมกลุ่ม กันทำงาน ทำงานเป็นทีมด้วย 7 ภาคีเครือข่าย ช่วยกันคิด ช่วยกันลงมือทำ เพื่อจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน
“ขอให้ผู้ประกอบการมั่นใจว่าทุกลวดลายผ้าสามารถดัดแปลงลดย่อปรับลดขนาดได้ ดังที่พระองค์หญิงพระราชทานเป็นต้นแบบให้เห็นแล้วว่า ผ้าไทยสามารถดัดแปลงได้ เราต้องเดินไปข้างหน้า ต้องมีฝีมือดีขึ้น ต้องมีศักยภาพดีขึ้น ดีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อถวายเป็นพระกำลังใจให้พระองค์ท่าน ทำให้ผ้าไทยมีชื่อเสียงทั้งในระดับจังหวัด ระดับประเทศ และระดับโลก ด้วยการนำสิ่งที่พระองค์พระราชทานทั้งองค์ความรู้และลวดลายมาใช้ให้เพิ่มมากขึ้น เพราะทุกชิ้นงานที่เพิ่มขึ้นหมายถึงรายได้ของพวกเราที่เพิ่มขึ้น พร้อมเชิญชวนเพื่อนทุกกลุ่มได้ส่งผลงานเข้าประกวดโดยพร้อมเพรียงกัน” ปลัด มท.กล่าว
ด้านนายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมสีธรรมชาติ กล่าวว่า สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะส่งผ้าเข้าประกวด ต้องเป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP หรือช่างทอผ้า หรือช่างงานหัตถกรรมที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่สมัครเข้าประกวด และต้องเป็นผ้าทอมือ หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมือเท่านั้น สามารถนำลายโบราณของแต่ละท้องถิ่นมาผสมผสานกับผ้าลายพระราชทาน “ลายดอกรักราชกัญญา” ได้ทุกประเภท โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-4 ส.ค.นี้ ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ ในพื้นที่ภูมิลำเนาของผู้สมัคร